Global Compact ย้ำเอกชนเร่งทำ SDGs เพิ่ม 5 ด้านสร้างความยั่งยืน
ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน SUSTAINABILITY FORUM 2024 จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า UN Global Compact เกิดขึ้นในปี 2000 จากการเล็งเห็นว่าต้องพึ่งเอกชนในการสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างนวัตกรรมวัดผลในเชิงสังคม 17 เป้าหมาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่พบว่า กว่า 85% ทำไม่ได้ตามเป้า แม้จะมีองค์กรธุรกิจมีความตั้งใจประกาศเจตนารมณ์กว่า 96% และ 79% มีสินค้า และบริการที่ตอบโจทย์ และเชื่อมโยงกับ SDGs ขณะเดียวกัน ราว 39% มองว่ายังทำไม่เต็มที่ เพราะบางครั้งแผน ยังไม่ออกมาเป็นสินค้า และบริการอย่างแท้จริง เป็นที่มาของ โครงการ Forward Faster เพื่อดึงภาคธุรกิจให้เร่งความคืบหน้า ต่อ 5 ประเด็นเป้าหมายที่ภาคเอกชนสามารถสร้างผลกระทบได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ใน 2 ปีที่ผ่านมา UN Global Compact และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มองว่า ต้องขยับจาก ESG มาโฟกัสให้ทุกประเทศร่วมกันจากเดิม SDGs 17 เป้าหมาย โดยเลือก Top 5 เป้าหมายคือ น้ำสะอาดและสุขาภิบาล , พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ , โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และอุตสาหกรรม รวมถึงเป้าหมายเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
“ในประเทศไทย มีปัจจัยเร่งที่จะต้องมีการดำเนินงาน และแข่งขัน ในการพัฒนาเพราะเราเจ็บปวดจากหลายเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่แค่ PM2.5 แต่เป็นความแล้ง ความร้อน และมีแนวโน้มว่าผลผลิตทางการเกษตรลดลง 25% ในปีหน้า กลายเป็นต้นทุนที่เราต้องเสีย เรื่องของเทคโนโลยี การผันผวนเศรษฐกิจและการเมือง”
ดร.ธันยพร กล่าวในปีนี้ มีประเด็นเพิ่มเติมอีก 5 เรื่องที่สหประชาชาติ มองว่า ภาคธุรกิจสามารถทำไปพร้อมกัน และจะวัดผลไปด้วยกัน ภายใต้ Forward Faster เพื่อให้สามารถสร้างผลกระทบได้มากที่สุด ประกอบด้วย
1 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) มีหลายบริษัทที่เป็นองค์กรระดับโลก เพิ่มสัดส่วนผู้นำหญิงในองค์กร 20-40% ทำให้มีความเท่าเทียมทางการคิด และส่งผลต่อการทำธุรกิจ พบว่า แค่เปลี่ยนให้ผู้หญิงคิดผู้บริโภคหันกลับมาใช้บริการมากขึ้น เพราะหลายบ้านผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจในการซื้อของ เกิดโอกาสในการทำธุรกิจได้มากขึ้น
2 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) จากที่เคยตั้งเป้าว่าจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศา ขณะที่ในการประชุม COP28 มองว่า มีแนวโน้มจะไปถึง 2.6 องศา ดังนั้น เราคือเจเนอเรชั่นสุดท้าย ที่ทำให้โลกร้อนลดลง การที่จะลดอุณหภูมินั้นหากภาคธุรกิจสามารถลดการใช้พลังงานลง หรือไม่ใช้พลังงาน ไม่ผลิต เอาของที่เหลือมา Reuse Recycle ไม่ต้องผลิต ไม่ต้องใช้พลังงาน แต่ตอบโจทย์โลกใบนี้จะเป็นข้อได้เปรียบ
3 ค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิตที่เหมาะสม (Living Wage) ค่าจ้างแรงงาน ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เป็นค่าจ้างที่เหมาะสมของการดำเนินชีวิต เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในครอบครัว โดยเฉพาะในสังคมสูงวัย หลายบริษัทมองว่า การได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม และมาตรฐานที่ดี จะทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยในการเติบโตของธุรกิจ
4 การเงิน และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs การปรับกลยุทธ์ทางการเงินให้สอดคล้องกับ SDGs จะปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ให้องค์กร ทั้งในแง่ของการดึงดูดนักลงทุน และเปิดโอกาสใหม่ในการลงทุน การปกป้องประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัทในระยะยาว ลดความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล รวมถึงป้องกันปัญหาด้านกฎหมาย และชื่อเสียงขององค์กรที่อาจเกิดขึ้น
5 การฟื้นคืนแหล่งน้ำ (Water Resilience) จากข้อมูลพบว่า น้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะขาดแคลนภายใน 3 ปี ไม่เพียงกระทบการเกษตร แต่กระทบต่อการใช้ชีวิตของเราด้วย ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้คิดราคาค่าน้ำตามมูลค่าตามธรรมชาติ แต่ในออสเตรเลีย จีน และเวียดนาม ตอนนี้เอาน้ำไปอยู่ใน Bank Account เพราะเป็นความเสี่ยงของธุรกิจ โดยประเทศจีนมีหลายเขตที่ไม่มีน้ำเพียงพอ จึงสงวนพื้นที่ภูเขา ห้ามรุกล้ำ โดย UN ระบุว่า มีแค่ 100 แห่งของแหล่งน้ำทั่วโลก ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม หนึ่งในนั้น คือ แม่น้ำโขง ในประเทศไทย
“หากมีเป้าหมายแบบนี้ ไม่ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ รายย่อย หากทำไปด้วยกัน เป้าหมาย Moving Forward จะง่ายขึ้น โครงการ Forward Faster เป็นการเร่งสปีด ให้พวกเราทำเรื่องเดียวกัน ร่วมมือร่วมใจ แม้ว่าจะเป็นคู่ค้า หรือ คู่แข่ง หากทำเรื่องเดียวกัน จะเห็นผลได้เร็วขึ้น”
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.