'วันนอร์'นัดรัฐสภาประชุมแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา20ฉบับ14-15ม.ค.68
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่ายทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เสร็จสิ้นว่า จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 20 ธันวาคม2567 เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และร่างกฎหมาย ป.ป.ช.อีกฉบับหนึ่ง ที่เสนอโดยพรรคประชาชน และรวมถึงการพิจารณาร่างข้อตกลง FTA ตามที่คณะรัฐมนตรี เสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ
ประธานรัฐสภา ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะมีการประชุม ในการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 2 ในวันที่ 14-15 มกราคม 2568 โดยจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ได้บรรจุระเบียบวาระแล้ว และที่มีการเสนอเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 20 ฉบับ ที่เสนอเข้ามาแล้ว โดยเป็นการเสนอแก้ไขแบบแบบรายมาตรา
ประธานรัฐสภา ยังระบุอีกว่า รัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอีกครั้งก็ได้ โดยที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย นัดประชุมอีกครั้งวันที่ 8 มกราคม2568 เพื่อเตรียมความพร้อมวาระการประชุมทั้งหมด พร้อมทั้งแบ่งเวลาการอภิปรายให้แต่ละฝ่าย
ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ6 ประเด็น ประกอบด้วย
1.แก้ไข (7) ของมาตรา 98 ซึ่งปัจจุบันกำหนดห้ามผู้ที่เคยรับโทษจำคุกโดยพ้นโทษยังไม่ถึง 10 ปี สมัคร สส. หรือเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ แก้ไขเป็นให้รวมความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย
2. แก้ไข (4) และ (5) ของมาตรา 160 คุณสมบัติรัฐมนตรี โดยปัจจุบัน (4) กำหนดว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ แก้เป็น “ ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” และให้ถือการกระทำดังกล่าวนับแต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบังคับใช้ ส่วน (5) เรื่องจริยธรรมแก้ให้ชัดเจนว่า ผู้เป็นรัฐมนตรีต้องอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในศาลฎีกา กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดย (7) คนที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอลงโทษซึ่งปัจจุบันห้ามเป็นรัฐมนตรีนั้น แก้เป็น ให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน
3.เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญให้นำไปใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย จึงแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน โดยแก้ไข ม.201 ,ม.202 ,ม.222 ,ม.228 ,ม.232 ,ม.238 และ ม.246
4.แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องมติและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา211 ปัจจุบันคำวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขเป็นถ้าเป็นการวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส. - สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้น ให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน
5.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 235 กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า มีความผิดคดีอาญา ร่ำรวยผิดปกติ หรือ ศาลฎีกาพิพากษาว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยปัจจุบันให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี จึงมีการแก้ไขเป็น “ ให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง
6. แก้ไขหมวด 15 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มเป็นวรรคสองของมาตรา 255 กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่สามารถทำได้ โดยแก้ไข (8) ของมาตรา 256 เดิมกำหนดว่าการแก้ไขในเรื่องต่างๆ ทั้งการแก้ไขหมวด 1 หมวด2 การแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ก่อนนำร่างร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนนั้น ได้แก้ไขเป็น เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด1 บททั่วไป หมวด2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้นที่ต้องจัดทำประชามติ
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.