เทียบความเหมือน สืบสานแนวคิด ทักษิณ มาถึง คำแถลงนโยบายรัฐบาลแพทองธาร

'รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี ก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ มีวาระต้องแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา วันที่ 12-13ก.ย.67 ร่างคำแถลงนโยบายของรัฐบาล จัดทำแล้วเสร็จ เนื้อหารายละเอียดมีทั้งสิ้น 75 หน้า มีการเรียง แบ่งเป็น นโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ กับ นโยบายระยะกลาง ระยะยาว ที่รัฐบาลมุ่งเน้นส่งเสริมจะทำอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม ต่อยอดอุตสาหกรรมอนาคต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันส่งเสริมพัฒนาคน ความหลากหลายทางเพศ พลิกฟื้นความเชื่อมั่นฯ

เมื่อลองสำรวจ พบว่า นโยบายที่บรรจุในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา แนวคิด วิธีการ ถ้อยคำ หลายนโยบาย คล้ายกับ แนวคิด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยประกาศผ่านเวที Dinner Talk : Vision for Thailand 2024 ที่จัดโดยเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 22ส.ค.67

ทักษิณ : ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน และธุรกิจ แก้ปัญหาหนี้ เป็นการจัดลำดับความสำคัญแรกของรัฐบาล

รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการ “ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ” โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญา ที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์
(นโยบายเร่งด่วน ประการแรก รัฐบาลแพทองธาร)

แจกดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเงินสดก่อน 1.45 แสนล้าน ตอนนี้มีการออกงบประมาณกลางปี 1.22 แสนล้านบาทเป็น พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม2567 จึงต้องเอางบกลางฯ ตรงนี้มารวมกับงบกลางฯ 2 หมื่นกว่าล้านบาทวงเงิน 14.5 ล้านคนในเดือน ก.ย.กลุ่มเปราะบางบวกกลุ่มคนพิการ
 

พองบประมาณใหม่ออกมาในเดือนต.ค.67 จะจ่ายให้กับคนที่ลงทะเบียนแล้วเป็นระบบดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากการใช้เงินสดไม่แม่นยำ อาจมีการไปใช้หนี้สินได้ ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ตรงเป้า ดังนั้นการแจกผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอีกส่วนหนึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายโครงการ

รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้น ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึง แหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ
(นโยบายเร่งด่วน ข้อที่5)

 

ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม Data Center เรื่องของ Green Energy สามารถส่งเสริมให้ทำเองใช้เองได้เพื่อให้ประชาชนมีต้นทุนไฟฟ้าที่ถูกลง 

รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) โดยอาศัยจุดแข็งของที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตรเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอดทั้งปี สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การติดตั้ง แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและผืนน้ำ พลังงานน้ำ และพลังงานทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งพัฒนา ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีและคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)
(นโยบายระยะกลางระยะยาว 2.1)

 รัฐบาลจะต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อตั้ง Data Center และโรงงานผลิตชิปและชิปดีไซน์ และผลิต Semiconductor ในประเทศไทย กระตุ้นให้เกิด ความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ รัฐบาลนี้จะวางรากฐานให้คนไทย ทุกกลุ่มวัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาตนเอง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
(นโยบายระยะกลางระยะยาว2.2)

 

การแข่งขันของ SME สู้สินค้าจีน มีการตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มข้น อย่าให้เอาเปรียบสินค้าของคนไทย 

รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคอง ให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 
(นโยบายเร่งด่วน ข้อที่2)

 

นโยบาย Soft Power รัฐบาลนี้เอาจริงเอาจัง หลายเรื่องเราทำได้ ตั้งมาตรฐานมวยไทย น่าจะเอามาทำลีก ให้คนมาแข่งมากขึ้น ตั้งค่าตัวเพื่อให้มีมาตรฐานให้มีการแข่งขันทั่วโลก เราเทรนครูมวย และมาตรฐานมวย เหมือนที่ฟีฟ่าทำฟุตบอล รวมทั้งการสนับสนุนอีสปอร์ต ที่ต้องมีการช่วยเหลือผู้ผลิตเกมให้มากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนแฟชั่นโชว์

รัฐบาลจะส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ เราจะสนับสนุนและส่งเสริม การปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ซึ่งเป็นศักยภาพของคนไทยและทุนทางวัฒนธรรม ของประเทศไทย ทั้งอาหารท้องถิ่นไทย ผ้าไทย มวยไทย ศิลปะการแสดงไทย ดนตรีไทย ผสมผสาน กับศิลปะร่วมสมัย และสุราชุมชน เพื่อยกระดับสินค้าโครงการ OTOP ทั้งด้านมาตรฐาน และดีไซน์ให้ทันสมัย โดดเด่น แตกต่าง และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งจะสนับสนุนการสอดแทรกทุนทางวัฒนธรรมในภาพยนตร์ไทยและสื่อทุกรูปแบบ
(นโยบายระยะกลาง ระยะยาวข้อ 1.2)

 

การปฏิรูปการเกษตรใหม่ ปัจจุบันเราไม่สามารถที่จะสู้เวียดนามได้ในการผลิตข้าว คุณภาพข้าวดีกว่า ไทยต้องใช้ R&D ช่วย เราสามารถทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหาร และช่วยประเทศอื่ๆ ได้

รัฐบาลจะยกระดับการทำการกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคง ทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย ครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลก ด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่ำสินค้ำเกษตรและราคาพืชผล การเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร
(นโยบายเร่งด่วนข้อที่ 6 )

 

นโยบาย Entertainment Complex เคยคิดไว้แต่โดนค้าน แต่วันนี้ไม่ได้คิดมีคนเชียร์มาก พื้นที่ กาสิโนมีไม่ถึง 10% แต่ในนั้นจะประกอบด้วยหลายอย่าง เช่น สวนสนุก โรงแรม คอนเสิร์ตฮอล สนามกีฬา สำหรับการลงทุนแต่ละแห่ง ในกรุงเทพมหานครต้องเริ่ม แสนล้านบาท หากลงทุนน้อยดูไม่หล่อ สู้ประเทศอื่นไม่ได้ ต่างจังหวัดแห่งละ 5 หมื่นล้านบาท 

ยกระดับเศรษฐกิจใต้ดิน คนไทยขาดทุนให้พนันออนไลน์ มียอดฝาก 3 ล้านล้านต่อปี และคนไทยขาดทุนประมาณ 1.7 แสนล้านต่อปี ถ้าตรงนี้เรามาทำให้ถูกต้องเราเก็บภาษีประมาณ 30% ได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทนำภาษีที่ได้มากำหนดการใช้ (Ear Mark Tax) เอาเงินส่วนนี้ส่งเด็กนักเรียนของเราไปต่างประเทศ หรือจ้างครูเก่งๆ มาสอนนักเรียนในประเทศก็ทำได้


รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ50 ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้ง จะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน.
(นโยบายเร่งด่วนข้อที่4)

รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จ ในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจาย ลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว.
(นโยบายเร่งด่วนข้อที่7)

 

การลงทุนขนาดใหญ่ ต้องเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีของรัฐบาลนี้ และชนะการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ทำต่อ รวมทั้งการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ต้องทำทั้งระบบ ถมทะเลบางขุนเทียน ปากน้ำ เพิ่มพื้นที่ขยายความแออัดกรุงเทพฯ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เมืองใหม่ ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯได้ และได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในทะเล 
โครงการรถไฟความเร็วสูงก็ต้องทำให้เสร็จจาก กทม.ถึงหนองคาย ในปีหน้า ความสัมพันธ์ไทยจีน 50 ปี เราก็ต้องมีการทำโครงการนี้ให้เสร็จเพื่อส่งคนและสินค้า 

รัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่างต่อเนื่อง ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนน ลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ พัฒนาระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) สร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับ ความต้องการของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ ยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพ ในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า พัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ ๆ เช่น สนามบินล้านนา สนามบินอันดามัน เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) เพิ่มประตูบานใหม่ (Gateway) รองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนโครงการ Landbridge โดยเฉพาะด้านการลงทุน โดยเอกชน เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค Logistics Hub
(นโยบายระยะกลาง ระยะยาวข้อ3.2)

 

การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก ให้คนศึกษาโมเดลของดูไบ สิงคโปร์ มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้มีการทำธุรกรรมกับต่างประเทศ เพื่อสร้างเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่เราจะมีข้อได้เปรียบ ให้ธนาคารทั่วโลกเข้ามาลงทุนในไทย และแบงก์ไทยไปตั้งในต่างประเทศได้ 

รัฐบาลจะมุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก (Financial Hub) โดยรัฐบาลจะผลักดันการยกร่างกฎหมายชุดใหม่ ที่มีความเป็นสากล โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ออกแบบสิทธิประโยชน์ที่จูงใจนักลงทุน และพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทันสมัยให้สอดรับกับความต้องการของบริษัทด้านการเงินระดับโลก
(นโยบายระยะกลาง ระยะยาวข้อ 2.4)

 

การขยายกองทุนวายุภักษ์ จะทำหน้าที่ในการซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นใน SET 50 และ SET 100 มาอยู่ในกองทุน อยากให้มีการปรับภาษีให้เป็นธรรมแข่งขันได้ เพื่อให้ประเทศไทยลดภาษีลงเพื่อให้คนมาอยู่มากขึ้นแต่เราจะเสียรายได้บางส่วนจะขึ้น VAT หรือไม่ เพราะรายได้ลดลง โดย VATต้องเอามาคืนได้มากขึ้น มาสู่เรื่อง Negative Income Tax คนรายได้น้อยไม่เสียภาษี คนที่มีรายได้สูงจะเสียภาษีอย่างเป็นธรรม

รัฐบาลจะเปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ ที่ให้ความสำคัญ กับการกระจายรายได้ ดึงแรงงานนอกระบบที่มีอยู่มากกว่าร้อยละ50 เข้าสู่ระบบ ศึกษาความเป็นไปได้ ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ เงินภาษีคืน เป็นขั้นบันได ตามเกณฑ์ที่กำหนด
(นโยบายเร่งด่วนระยะกลาง ระยะยาว ข้อ3.5)

 

ประเทศไทยควรมีการปรับลดขนาดของราชการ และการปฏิรูประบบราชการ โดยปัญหาระบบราชการที่อุ้ยอ้ายไม่ตอบโจทย์การแข่งขันจะต้องมีการปรับการใช้เทคโนโลยีให้กับระบบราชการมากขึ้น การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น

รัฐบาลจะปฏิรูประบบราชการและกองทัพเพื่อเพิ่มประสิทธิภำพ เปลี่ยนผ่าน ราชการไทยไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล(Digital Government) ปรับขนาดให้มีความคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้งบประมาณและการปฏิบัติราชการ ปรับขนาด และกำลังคนภาครัฐให้สอดคล้องกับภารกิจ เปลี่ยนผ่านรูปแบบการเกณฑ์ทหารไปสู่แบบสมัครใจ เน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรภาครัฐเป็นคนดีและเก่ง มีคุณธรรม มุ่งมั่นและมืออาชีพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของรัฐและต่อต้าน การทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับ การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิด ตัดสินใจในกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น และการดูแลชุมชน
(หมวดพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้คนไทยและต่างชาติ)


"อะไรที่เป็นประโยชน์ เดี๋ยวดูกันอีกที"

เมื่อวันที่5ก.ย.แพทองธาร ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถามถึงวิสัยทัศน์ ทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงวิสัยทัศน์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา จะนำมาอยู่ในนโยบายด้วยหรือไม่  

คำขวัญ ก่อนการเลือกตั้งปี2554 “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” มาสู่ วิสัยทัศน์ ทักษิณ 22ส.ค.67 กับจังหวะ การตั้งครม.แพทองธาร1 ทำให้เกิดวาทกรรมเชิงเสียดสี "ครอบครอง-ครอบงำ-ครอบครัว" ในวันนี้กำลังดำเนินมาถึง “สืบสานแนวคิด” ผ่านคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาฯของ อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่กำลังจะเกิดขึ้นวันที่ 12-13ก.ย.67 


 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.