ซีพี ออลล์-เซเว่นฯ ยกระดับโรงเรียน CONNEXT ED พัฒนาทักษะวิชาการควบคู่วิชาชีพ

ซีพี ออลล์-เซเว่น อีเลฟเว่น เดินหน้าพลิกโฉมโรงเรียน CONNEXT ED เฟสที่ 6 ผ่านโมเดล “ผู้ประกอบการจิ๋ว” ต่อเนื่อง ดึงผู้บริหาร-ครู-นักเรียน 6 โรงเรียนเจ้าของผลิตภัณฑ์ชุมชนเด่นจาก 6 ภูมิภาค ผ้ามัดย้อมดาวเรือง-กระเป๋าจากกระจูด-ไซรัปอ้อย-กรอบรูปถมทอง-ยาดมสมุนไพรไม้หอม-ข้าวพื้นเมือง ร่วมเวิร์คช็อปพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ เพิ่มโอกาสต่อยอดสินค้า บูรณาการหลักสูตรพัฒนาทักษะวิชาการควบคู่วิชาชีพ หวังสร้างต้นแบบก่อนขยายผลสู่โรงเรียน CONNEXT ED ทั่วประเทศ ด้านโรงเรียน-นักเรียนปลื้ม เพิ่มรายได้กลับสู่โรงเรียน-ครอบครัว-ชุมชน สร้างแรงบันดาลใจประกอบอาชีพของเยาวชนในอนาคต

นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า การสร้างคนผ่านการศึกษา ถือเป็นหนึ่งในกรอบกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ที่บริษัทยังคงมุ่งหน้าขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด จึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนภายใต้ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) เฟสที่ 6 จัดงานสัมมนา “โครงการปั้นผู้ประกอบการจิ๋ว 6 ภูมิภาค” คัดเลือกโรงเรียนนำร่องจากแต่ละภูมิภาค ที่สามารถบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนที่ช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนได้อย่างโดดเด่น และนำผู้บริหาร ครู นักเรียน จากโรงเรียนแต่ละแห่ง มาร่วมพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการเพิ่มเติม เพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพ ให้โรงเรียนและชุมชนใกล้เคียง เกิดความยั่งยืน

“ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะวิชาการและวิชาชีพควบคู่กัน เรามองว่าทักษะการเป็นผู้ประกอบการ คือรากฐานสำคัญในการต่อยอดสู่วิชาชีพ และเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่จะช่วยให้เยาวชน ชุมชน โรงเรียน สามารถปรับตัวได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจ ประยุกต์โอกาส นำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีอยู่รอบตัวในชุมชน มาสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ เราคาดหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้กลุ่มโรงเรียนนำร่องประสบความสำเร็จในการสร้างเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการจิ๋ว เกิดสินค้าที่สร้างรายได้คืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน และกลายเป็นต้นแบบสู่การขยายผลไปยังโรงเรียน CONNEXT ED ที่เราดูแลอยู่กว่า 610 โรงเรียน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

สำหรับโรงเรียนนำร่องจาก 6 ภูมิภาค ได้แก่ 1.โรงเรียนวังไพรวิทยาคม ตัวแทนภาคตะวันออก เจ้าของผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากดอกดาวเรือง 2.โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) ตัวแทนภาคใต้ เจ้าของผลิตภัณฑ์ กระเป๋าจากกระจูด 3.โรงเรียนโคกงามวิทยาคาร ตัวแทนภาคตะวันตก เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำตาลอ้อยก้อนและไซรัปอ้อย 4.โรงเรียนอนุบาลบ้านท่าพระยาจักร ตัวแทนภาคกลาง เจ้าของผลิตภัณฑ์กรอบรูปถมทอง 5.โรงเรียนบ้านสันป่าสัก ตัวแทนภาคเหนือ เจ้าของผลิตภัณฑ์ยาดมสมุนไพรไม้หอม และ 6.โรงเรียนบ้านหนองคันนา ตัวแทนภาคอีสาน เจ้าของผลิตภัณฑ์ข้าวพื้นเมือง

นางวรรณวนา พิทักษ์สงคราม ผู้อำนวยการโรงเรียนวังไพรวิทยาคม จ.สระแก้ว ผู้บริหารโรงเรียนนำร่องโมเดลผู้ประกอบการจิ๋ว เจ้าของผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากดอกดาวเรือง กล่าวว่า ชุมชนใกล้เคียงโรงเรียนปลูกดอกดาวเรืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อได้รับการสนับสนุนจากซีพี ออลล์ภายใต้ CONNEXT ED เฟสแรกๆ จึงได้ทยอยบูรณาการทักษะที่เกี่ยวข้องกับการปลูกดอกดาวเรืองไปจนถึงทักษะการทำผลิตภัณฑ์จากสีดอกดาวเรืองอย่างผ้ามัดย้อม เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อาทิ การเลือกดินเพาะปลูกดาวเรือง วิธีการปลูก การแปรรูป เวชสำอาง การตลาด บัญชี พร้อมทั้งนำความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดจนครูในโรงเรียนที่จบด้านวิทยาศาสตร์อาหาร และด้านศิลปะ มาถ่ายทอดให้กับนักเรียน จนเด็กนักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีดอกดาวเรืองและใบไม้ในท้องถิ่น ฝีมือเยาวชนและคนในชุมชน

“เราเริ่มขายมาได้ราว 2 ปี มีสินค้าหลากหลาย ตั้งแต่ผ้าคลุมไหล่ เสื้อ ชุดสูท ชุดแซค ลูกค้าหลักในปัจจุบันเป็นคุณครู แพทย์ พยาบาล มียอดสั่งซื้อสูงในช่วงงานเกษียณ งานปีใหม่ สร้างรายได้กลับสู่นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน การบูรณาการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะวิชาชีพควบคู่ไปกับทักษะวิชาการ ช่วยให้เด็กๆ หลายคนที่มีฐานะไม่ดี มีองค์ความรู้ไปต่อยอดอาชีพของที่บ้าน รวมถึงมาทำงานด้านดาวเรืองเป็นอาชีพเสริมได้ ยิ่งในวันนี้โรงเรียนได้รับเลือกเป็นโรงเรียนนำร่อง มาร่วมสัมมนาปั้นผู้ประกอบการจิ๋ว เชื่อว่าจะช่วยให้โรงเรียน เยาวชน ชุมชน สามารถพัฒนาและขายผ้ามัดย้อมจากสีดอกดาวเรืองได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น” นางวรรณวนา กล่าว

น.ส. กัญญารัตน์ โหมดตาด หรือ โฟร์ท นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวังไพรวิทยาคม จ.สระแก้ว กล่าวว่า ได้เข้าร่วมพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการปลูกดอกดาวเรืองตั้งแต่ชั้น ม.1 ได้เรียนรู้ทั้งวิธีการปลูก วิธีการคัดเลือกพันธุ์ ทักษะวิชาชีพที่สามารถไปต่อยอดวิชาชีพอื่นได้ โดยตัวเธอเองมีความฝันอยากประกอบธุรกิจของตัวเอง โดยสนใจงานด้านแฟชั่นเสื้อผ้า ซึ่งต่อยอดจากการผลิตผ้ามัดย้อมในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน อยากให้โมเดลผู้ประกอบการจิ๋วเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง ต่อยอดไปถึงน้องๆ รุ่นต่อไป เนื่องจากผู้ปกครองเองก็ชอบกิจกรรมนี้ เพราะเกิดรายได้เสริม ลดภาระผู้ปกครอง เด็กๆ เองก็ได้รับความรู้ สนุกสนาน เกิดการสานสัมพันธ์ในโรงเรียน

นายอับดุลเลาะ อูเซ็ง คุณครูโรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) จ.พัทลุง คุณครูโรงเรียนนำร่องโมเดลผู้ประกอบการจิ๋ว เจ้าของผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากกระจูด กล่าวว่า การสานกระจูดถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หลายครอบครัวให้ความสำคัญกับการสานกระจูดควบคู่ไปกับการทำประมง โรงเรียนจึงได้ร่วมกับซีพี ออลล์ ภายใต้ CONNEXT ED เฟสแรกๆ บูรณาการการสานกระจูดและเส้นกกเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน จนได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบ (School Model) มีผลิตภัณฑ์หลักคือหูหิ้วถ้วยกาแฟจากเส้นกก ที่นำไปใช้ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น หลายสาขาในพัทลุง และกระเป๋ากระจูดสานมือ วันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่โรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องโครงการผู้ประกอบการจิ๋ว จึงมีความมุ่งหวังจะได้รับความรู้ด้านต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ ด้านการตลาด เพื่อให้สามารถสร้างรายได้กลับสู่โรงเรียน นักเรียน ชุมชน พร้อมทั้งพาผลิตภัณฑ์กระจูดให้เป็นที่รู้จักทั้งระดับในประเทศและนานาประเทศ

นายอัศม์เดช รักษ์จันทร์ หรือ ช้ะชิ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดประดู่หอม (สุขประชาสรรค์) จ.พัทลุง กล่าวว่า จากการสนับสนุนล่าสุดของซีพี ออลล์ จึงทำให้มีห้องไลฟ์สดในโรงเรียน และได้มีส่วนร่วมเป็นคนขายกระเป๋ากระจูดผ่านไลฟ์ รวมถึงการสานกระเป๋ากระจูดทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน ทั้งในรายวิชา อาทิ วิชาแปรรูปกระจูด วิชาแปรรูปเส้นกก ความฝันในอนาคต อยากเป็นคุณครูสอนวิชาศิลปะ เนื่องจากชื่นชอบในการเพนท์กระเป๋ากระจูด ขณะเดียวกัน อาจประกอบอาชีพเสริมด้วยการเพนท์กระเป๋ากระจูดลายภาพเหมือน เป็นภาพบุคคลให้เจ้าของกระเป๋าได้สะพาย

สำหรับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) และเป็น 1 ใน 55 องค์กรเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญและตอบรับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยขับเคลื่อนโครงการตามปณิธานองค์กร “Giving and sharing” วางเป้าดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED 6 เฟส จำนวนกว่า 610 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถดำเนินโครงการด้านต่างๆ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โครงการพัฒนาคุณภาพคน โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากในองค์กรร่วมลงพื้นที่และคอยให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการของโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิด

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.