แพทย์เตือนผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะหัวใจ และหลอดเลือดแทรกซ้อน เสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยเบาหวานทั่วไปถึง 3 เท่า

บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรม “แพทย์ชวนคุย เบาหวานอย่าเบาใจ ดูและและประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดตามคำแนะนำของแพทย์” โดยมี รศ. นพ. ธาดา คุณาวิศรุต อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม และ นายนิธิ คงทน ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เจ้าของช่องติ๊กต๊อก แด๊ดดี้สายเบาหวาน ร่วมให้ข้อมูล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ป่วยเบาหวานเห็นถึงความสำคัญของการเข้ารับการตรวจประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนอันดับ 2 ของผู้ป่วยเบาหวาน พร้อมเผยสถิติที่น่าสนใจ อาทิ

o   ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสหรือมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวานประมาณ 3 เท่า

ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นเพศหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ป่วยชาย โดยเพศหญิงมีความเสี่ยง 3.5 เท่า ในขณะที่เพศชายมีความเสี่ยง 2.1 เท่า

รศ.นพ. ธาดา คุณาวิศรุต อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อกล่าวว่า โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคเรื้อรัง ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยอาจเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลในระดับน้ำตาลในเลือดและส่งผลเสียต่อสุขภาพ ปัจจุบันคนไทยเป็นเบาหวานถึงร้อยละ 12.4 สำหรับคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และในอนาคตจะพบผู้ป่วยเบาหวานมากขึ้น

“โรคเบาหวานอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว เส้นเลือดสมองตีบ ไตเสื่อม การเสื่อมของระบบประสาท และปัญหาด้านสายตา การควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และการรักษาด้วยยาอย่างเหมาะสมเป็นวิธีในการจัดการโรคเบาหวานเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน

ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็น 1 ในภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มากขึ้น และภาวะหัวใจล้มเหลวส่งผลต่อการเสียชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวคือโรคเบาหวาน พบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจล้มเหลวเพิ่มขึ้น 2-5 เท่า เราจึงควรให้ความสำคัญกับภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยเบาหวาน อาการของหัวใจล้มเหลวได้แก่ การออกกำลังได้น้อยลงเพราะเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ขาบวม เป็นต้น เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อประเมิน รศ.นพ. ธาดา คุณาวิศรุต กล่าว

รศ.นพ. ธาดา คุณาวิศรุต อธิบายเพิ่มเติมว่า การวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้แก่ X-ray ทรวงอก การตรวจ Echocardiogram หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Echo เป็นการตรวจหัวใจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวนด์) เพื่อประเมินการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ และ การตรวจเอ็นที-โปรบีเอ็นพี หรือ NT-proBNP (N-terminal pro-B-type natriuretic peptide) ซึ่งเป็นการตรวจโดยการเจาะเลือดที่แขนเพื่อใช้ในการประเมินภาวะหัวใจล้มเหลวผู้ป่วย

การตรวจ เอ็นที-โปรบีเอ็นพี หรือ NT-proBNP เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวน่าจะมีประโยชน์ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากสามารถช่วยตรวจหาภาวะหัวใจล้มเหลวในระยะแรกเพราะผู้ป่วยยังไม่มีอาการ นอกจากนี้ NT-proBNP ยังมีประโยชน์ในการติดตามการรักษาเพื่อที่จะได้เปลี่ยนแปลงการรักษาให้ดียิ่งขึ้น โดยสามารถใช้ร่วมกับการตรวจอื่นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้นในการประเมินสุขภาพของหัวใจ

ด้าน นายนิธิ คงทน ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2  และเจ้าของช่องติ๊กต๊อก แด๊ดดี้สายเบาหวาน กล่าวว่า นอกจากการดูแลตนเองออกกำลังกาย ควบคุมน้ำตาลและอาหาร รวมทั้งการปรับไลฟ์สไตล์อย่างเคร่งครัดแล้ว การพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาในการตรวจประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีอาการป่วยมาเป็นระยะเวลานาน มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ และมีอาการผิดปกติทางหัวใจ เพื่อให้สามารถตรวจพบอาการผิดปกติต่างๆ ได้แต่เนิ่นๆ ทำให้สามารถเข้าสู่การรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

“เบาหวานไม่ใช่โรคของคนเพียงคนเดียว แต่เป็นโรคของคนทั้งครอบครัว เพราะเมื่อมีคนหนึ่งคนในครอบครัวป่วยเป็นเบาหวานจะส่งผลกระทบการการใช้ชีวิตของทุกคนในบ้าน ดังนั้น สำหรับผมถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการตรวจ NT-proBNP เพราะมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ การตรวจไม่ยุ่งยาก เพียงเจาะเลือดที่แขนไปตรวจ และรอผลประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งมองว่าเป็นการตรวจที่คุ้มค่า เพราะทำให้เกิดความตระหนัก หากเกิดความผิดปกติเพียงเล็กน้อยจะได้เข้ารับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางได้อย่างทันท่วงที นอกจากนั้นยังสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ในการดูแลที่ถูกต้องได้ ก่อนจะเกิดอาการวิกฤติและเสียชีวิต” นายนิธิ คงทน กล่าวเสริม พร้อมย้ำว่าผู้ป่วยเบาหวานควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในกระแสเลือดอยู่ด้วย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.