Han Kang นักเขียนหญิงหัวขบถแห่งเกาหลีใต้ ผู้คว้าโนเบลวรรณกรรม 2024

รู้จัก ฮัน คัง (Han Kang) นักเขียนหญิงชาวเกาหลีใต้วัย 53 ปี ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี 2024 ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมเกาหลีใต้

เขียนโดย นงลักษณ์ อัจนปัญญา sarakadeelite.com

Focus

  • ฮัน คัง เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ปี 1970 ในเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งช่วงเวลาที่ฮัน เติบโตมาเป็นช่วงที่เกิดการปะทะและหลอมรวมระหว่างวัฒนธรรมเกาหลีแบบดั้งเดิมกับความไม่สงบทางการเมือง
  • ก่อนที่จะได้รับรางวัลโนเบล ฮัน คังได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติจากนวนิยายเรื่อง The Vegetarian (2007) ซึ่งได้รับรางวัล Man Booker International Prize ในปี 2016

ต้องยอมรับว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้วรรณกรรมแปลจากเกาหลีใต้ได้ครองพื้นที่ของเชลฟ์หนังสือในร้านชั้นนำและครองใจนักอ่านไทยรุ่นใหม่มาโดยตลอดและดูจะเพิ่มความนิยมมากขึ้นในหลากหลายหมวด ตอกย้ำความสำเร็จด้านวรรณกรรมของเกาหลีใต้ด้วยการประกาศชื่อของ ฮัน คัง (Han Kang) นักเขียนหญิงชาวเกาหลีใต้วัย 53 ปี ในฐานะผู้ที่ได้รับ รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2024  ถือเป็นนักเขียนชาวเกาหลีใต้คนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ขณะเดียวกันเธอยังเป็นนักเขียนหญิงคนที่ 18 ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว จากจำนวนรางวัลที่มอบมาแล้วทั้งหมด 117 ครั้งนับตั้งแต่การเริ่มมอบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1901

เครดิตภาพ : Lee Chunhee

ทั้งนี้ เป็นธรรมเนียมของทุกปีในช่วงเดือนต้นเดือนตุลาคมที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลจะประกาศรางวัลโนเบล 6 สาขา โดยจะประกาศผลรางวัลหนึ่งสาขาต่อวันไล่เรียงต่อเนื่องกันไปจนครบ ซึ่งปี 2024 นี้เริ่มต้นที่สาขาการแพทย์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2024 ก่อนไล่เรียงมาเป็นสาขาฟิสิกส์  เคมี วรรณกรรม สันติภาพ และเศรษฐศาสตร์ ในวันจันทร์ 14 ตุลาคม 2024 แน่นอนว่า ทันทีที่รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมได้รับการประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา ชื่อของ ฮัน คัง ก็เริ่มได้รับการพูดถึงถามไถ่ รวมถึงการค้นหาผลงานของเจ้าตัวในวงกว้างทันที โดยเฉพาะผลงานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษเล่มแรกอย่าง The Vegetarian (2007) ซึ่งเป็นรางวัลที่นำพาให้ฮัน คัง คว้ารางวัล Man Booker International ในปี 2016 โดย The Vegetarian บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอกหญิงที่เลือกจะหันมารับประทานมังสวิรัติหลังฝันเห็นสัตว์ถูกฆ่ามานาน แต่การเลือกที่จะไม่กินเนื้อสัตว์กลับทำให้หญิงสาวต้องห่างออกจากครอบครัวและสังคม จนกระทั่งต้องเผชิญกับเรื่องราวเจ็บปวดเหลือคณา

อย่างไรก็ตาม รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมที่มอบให้ ฮัน คัง ในปีนี้ ไม่ได้เจาะจงไปที่ผลงานชิ้นหนึ่งชิ้นใดของเจ้าตัวเป็นพิเศษ แต่เจาะจงไปที่ผลงานโดยรวมทั้งหมดที่ผ่านมา โดย แอนเดอร์ส โอลส์สัน (Anders Olsson) ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบล กล่าวยกย่องชื่นชมว่า งานของ ฮัน คัง ใช้พลังของ “คำ” ในการแสดงให้เห็นความเห็นอกเห็นใจทางกายภาพต่อชีวิตที่เปราะบาง ซึ่งโดยมากมักเป็นผู้หญิง ที่ ฮัน คัง นำมาใช้เป็นตัวเอกในเรื่องของตัวเอง

“เธอ (ฮัน คัง) มีความตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างร่างกายและจิตวิญญาณ คนเป็นและคนตาย ในรูปแบบบทกวีและการทดลองของเธอได้กลายเป็นผู้ริเริ่มร้อยแก้วร่วมสมัย” โอลส์สันกล่าว

The Vegetarian (2007) ผลงานที่คว้ารางวัล Man Booker International ในปี 2016

ด้าน แอนนา-คาริน ปาล์ม (Anna-Karin Palm) หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการรางวัลโนเบล กล่าวว่า ฮัน คัง เขียนเกี่ยวกับ “บาดแผล ความเจ็บปวด และความสูญเสีย” ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลหรือส่วนรวม “ด้วยความเห็นอกเห็นใจและความเอาใจใส่แบบเดียวกัน” โดย ปาล์ม ยกย่องร้อยแก้วของ ฮัน คัง ว่าเป็นงานเขียนที่ ทั้งอ่อนโยนและโหดร้าย ในเวลาเดียวกัน

ขณะที่ ประธานาธิบดี ยุน ซุก ยอล ของเกาหลีใต้ โพสต์แสดงความยินดีผ่านเฟซบุ๊ก ทันทีที่ทราบข่าวว่า ชัยชนะของฮันว่าเป็น “ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมเกาหลีใต้ และ ฮัน ได้เปลี่ยนบาดแผลอันเจ็บปวดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเกาหลีใต้ให้กลายเป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่”

ทั้งนี้ งานเขียนส่วนใหญ่ของ ฮัน คัง มักก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อวิถีชีวิตและความเป็นมนุษย์ เป็นคำถามที่ให้ฉุกคิด แต่กลับปราศจากวิพากษ์หรือประณามใดๆ  เป็นความอ่อนโยน แต่ขณะเดียวกัน ก็เจ็บปวด ด้านแถลงการณ์ของคณะกรรมการรางวัลโนเบลกล่าวว่า งานของ ฮัน มีลักษณะพิเศษคือ “การเปิดเผยความเจ็บปวดเป็นสองเท่า ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างความทรมานทางจิตใจและร่างกาย พร้อมการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับแนวคิดแบบตะวันออก” เช่นในนวนิยายเรื่อง Convalescence ของ ฮัน ในปี 2013 ซึ่งเกี่ยวข้องกับแผลที่ขาที่ไม่ยอมรักษาและความสัมพันธ์ที่เจ็บปวดระหว่างตัวละครหลักกับน้องสาวที่เสียชีวิตของเธอ

นอกจากนี้ หนึ่งในแง่มุมที่น่าสนใจที่สุดในงานเขียนของฮันคังคือความสามารถของฮันในการแสดงความคิดเห็นต่อผู้ที่ไม่มีปากไม่มีเสียงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงภาพผู้ถูกกดขี่ ผู้บอบช้ำทางจิตใจ หรือผู้ที่ถูกสังคมกีดกัน ตัวละครของเธอแสดงให้เห็นมิติแห่งความเงียบงันของมนุษยชาติ นวนิยายของเธอก้าวข้ามเพียงการเล่าเรื่อง พวกเขาทำหน้าที่เป็นพยานถึงความทุกข์ทรมานและความยืดหยุ่นของจิตวิญญาณมนุษย์ โดย ฮัน คัง ท้าทายให้ผู้อ่านมองข้ามเรื่องผิวเผิน เผชิญหน้ากับความจริงที่น่าอึดอัด และรับรู้ถึงความเป็นมนุษย์ที่ยังคงอยู่แม้ในสถานการณ์ที่สิ้นหวังที่สุดผ่านการเล่าเรื่องที่ฉุนเฉียวของเจ้าตัว และการได้รับรางวัลโนเบลของฮันถือเป็นเครื่องยืนยันบทบาทของวรรณกรรมในฐานะตัวเร่งให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น

ชีวิตและภูมิหลัง

ฮัน คัง เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ปี 1970 ในเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งช่วงเวลาที่ฮัน เติบโตมาเป็นช่วงที่เกิดการปะทะและหลอมรวมระหว่างวัฒนธรรมเกาหลีแบบดั้งเดิมกับความไม่สงบทางการเมือง โดยมีเหตุการณ์สำคัญอย่าง เหตุจลาจลกวางจูในปี 1980 ที่หล่อหลอมโลกทัศน์และการแสดงออกทางวรรณกรรมของฮันอย่างลึกซึ้ง การลุกฮือและความรุนแรงที่ตามมาได้ทิ้งรอยแผลเป็นไว้บนจิตสำนึกของชาติ และ ฮัน คัง ก็ได้รวบรวมไว้ในงานเขียนของตนเอง ประสบการณ์ดังกล่าว ปลูกฝังให้ฮันมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบที่ยืดเยื้อของความบอบช้ำทางจิตใจในอดีต ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในผลงานของเจ้าตัว และทำให้งานวรรณกรรมของ ฮัน ทำหน้าที่เป็นทั้งภาพสะท้อนและการเผชิญหน้าของความทรงจำทางประวัติศาสตร์ร่วมกันเหล่านี้

เส้นทางสู่วรรณกรรม

จริงๆ แล้ว ฮัน คัง คือ นักประพันธ์ในสายเลือด เนื่องจากเจ้าตัวเติบโตมาจากวงการวรรณกรรมโดยคุณพ่อของฮัน คือ ฮัน ซึง-วอน (Han Seung-won) เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของเกาหลีใต้ ส่วนตัวของฮันเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนักเขียนอย่างจริงจังในปี ค.ศ. 1993 ด้วยการตีพิมพ์บทกวีหลายบทในนิตยสาร Literature and Society และเขียนงานร้อยแก้วเปิดตัวครั้งแรกในปี 1995 ด้วยคอลเลกชันเรื่องสั้น รักของเยซู (Love of Yeosu)

ก่อนที่จะได้รับรางวัลโนเบล ฮัน คังได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติจากนวนิยายเรื่อง The Vegetarian (2007) ซึ่งได้รับรางวัล Man Booker International Prize ในปี 2016 นวนิยายแหวกแนวเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของยองฮเย ผู้หญิงที่การตัดสินใจเลิกกินเนื้อสัตว์หลังจากความฝันอันน่าสยดสยองต่อเนื่องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงส่วนบุคคลอย่างลึกซึ้ง สิ่งที่เริ่มต้นเมื่อตัวเลือกของแต่ละคนคลี่คลายไปสู่ความเห็นที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับความคาดหวังของสังคม ความเป็นอิสระ และความขัดแย้งระหว่างร่างกายและจิตใจ

ทั้งนี้ ในงานเขียนทั้งหมด ฮัน ถ่ายทอดความลึกของอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ผ่านการเขียนที่เบาบางแต่ไพเราะ โดยบรรยายถึงความสยองขวัญและความงามในระดับที่เท่าเทียมกัน ผู้อ่านมักจะต้องเผชิญกับคำถามที่ซับซ้อนเกี่ยวกับตัวตนและสภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงทักษะของฮันในฐานะนักเขียนที่เชิญชวนให้นักอ่านต้องคิดใคร่ครวญความเป็นมนุษย์ของตนเอง

ผลงาน Human Acts (2014)

ปฎิวัติไร้เสียงผ่านงานเขียน

นวนิยายของฮัน คังมักมีลักษณะเป็นการปฏิวัติที่เงียบสงบ ตัวละครเอกของเธอ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ดูเหมือนจะไม่มีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเปิดเผย แต่การต่อสู้ภายในของพวกเธอสามารถสร้างผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อผู้อ่าน เรื่องเล่าของเธอไม่ค่อยจบลงด้วยการปณิธานที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่กลับนำเสนอคำถามที่ซับซ้อนซึ่งบีบบังคับให้เราต้องเผชิญหน้ากับการสมรู้ร่วมคิดในระบบของการกดขี่และความรุนแรง

ผลงานที่โด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่งของฮัน อย่าง Human Acts (2014) กล่าวถึงประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดของการจลาจลในเมืองกวางจูที่ฮันเติบโตมาในลักษณะส่วนตัวอย่างลึกซึ้ง นวนิยายเรื่องนี้เล่าถึงการสังหารหมู่พลเรือนอย่างโหดร้ายระหว่างการประท้วงต่อต้านกฎอัยการศึกในปี ค.ศ.1980 และสำรวจว่าบาดแผลดังกล่าวสะท้อนผ่านรุ่นสู่รุ่นอย่างไร ด้วยการใช้มุมมองที่หลากหลาย ฮัน คัง แสดงให้เห็นถึงผลกระทบร้ายแรงของความรุนแรงต่อความทรงจำโดยรวมและกลไกทางสังคมที่รับมือหรือล้มเหลวในการรับมือกับโศกนาฏกรรมดังกล่าว เรียกได้ว่า ฮันได้เผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ความรุนแรงของรัฐในประเทศของตนเองด้วยการให้เสียงแก่เหยื่อของการสังหารหมู่ที่ดำเนินการโดยกองทัพเกาหลีใต้ในปี ค.ศ.1980 นวนิยายเรื่องนี้โดนใจผู้ชมทั่วโลก ไม่ใช่แค่ความเฉพาะเจาะจงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นที่เป็นสากลของบาดแผลทางใจ ความทรงจำ และการต่อต้านด้วย ความสามารถของ ฮัน คังในการจัดการกับเรื่องที่เจ็บปวดด้วยความงามที่หลอกหลอนทำให้เสียงเงียบของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงกลายเป็นเสียงที่ดังก้องและสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนต่อผู้อ่านของเจ้าตัว

เครดิตรภาพ : Paik Dahuim

ทั้งนี้ การยอมรับของ ฮัน คัง ในฐานะผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขา วรรณกรรม บ่งบอกถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ไม่เพียงแต่สำหรับวรรณกรรมเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนวรรณกรรมระดับโลกด้วย ชัยชนะของฮันทำให้เห็นความสำคัญของการเล่าเรื่องที่หลากหลายซึ่งสำรวจธีมของความบอบช้ำทางจิตใจ ความทรงจำ และความซับซ้อนของอัตลักษณ์ งานเขียนของฮันก้าวข้ามอุปสรรคทางภาษาและวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยงกับผู้อ่านทั่วโลก รางวัลโนเบลเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเป็นตัวแทนของเสียงที่มักถูกมองข้ามหรือถูกเมินเฉยเพื่อสนับสนุนให้เสียงเหล่านั้นมีเรื่องเล่าในกระแสหลัก แม้ว่าจะหยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเกาหลี แต่คำถามที่ฮันคังหยิบยกขึ้นมาเกี่ยวกับมนุษยชาติและความรุนแรงนั้นเป็นสากลอย่างแท้จริง

การคัดเลือกฮันคังโดย Swedish Academy ผู้รับหน้าที่คัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม บ่งบอกถึงความชื่นชมที่เพิ่มขึ้นในวรรณกรรมที่ท้าทายโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ การที่ฮันมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบทางจิตวิทยาจากความรุนแรงและการสำรวจชีวิตภายในของเธอได้พูดถึงมากมายในโลกที่ถูกครอบงำโดยความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมมากขึ้น

แมทส์ มาล์ม (Mats Malm) เลขาธิการแห่ง Swedish Academy ผู้รับหน้าที่แจ้งข่าวดีให้กับฮันเล่าว่า Han Kang กำลัง “มีวันธรรมดาๆ” และ “เพิ่งทานอาหารเย็นกับลูกชายของเธอเสร็จ” เมื่อมาล์มโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับฮัน

“เธอ (ฮัน) ไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้จริงๆ แต่เราได้เริ่มหารือเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับเดือนธันวาคมแล้ว” มาล์มกล่าว โดยพิธีมอบรางวัลโนเบลจะจัดขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน ในวันที่ 10 ธันวาคม 2024 ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของอัลเฟรด โนเบลในปี 1896

Fact File

  • แม้ Han Kang จะเป็นนักเขียนหญิงชาวเกาหลีใต้คนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล (สาขาวรรณกรรม) แต่ Han Kang ถือเป็นชาวเกาหลีใต้คนที่สองที่ได้รับรางวัลโนเบล โดยคนที่ได้รับรางวัลโนเบลคนแรกคือ อดีตประธานาธิบดีคิมแดจุงผู้ล่วงลับได้รับรางวัลสันติภาพในปี 2000 จากความพยายามของเจ้าตัวในการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ในช่วงการปกครองของทหารครั้งก่อนของประเทศและปรับปรุงความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือซึ่งเป็นคู่แข่งที่แบ่งแยกสงคราม
  • ผู้ได้รับรางวัลโนเบลจะได้รับประกาศนียบัตร เหรียญรางวัล และเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับมูลค่ารางวัลโนเบล ซึ่งในปี 2024 ตั้งไว้ที่ 11 ล้านโครนสวีเดน หรือประมาณ 1.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 35 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน (ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2024)
  • ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2023 ที่ผ่านมาคือ ยอน ฟอสส์ (Jon Fosse) นักเขียนชาวนอร์เวย์ จากการสร้างสรรค์งานเขียนที่ให้ค่ากับเสียงแก่ผู้ที่ไม่อาจพูดได้ โดยมีผลงานสร้างชื่ออย่าง นวนิยายเจ็ดเล่มในซีรีส์ “Septology” และ “Morning and Evening”

อ้างอิง

  • https://currentaffairs.adda247.com/south-korean-author-han-kang-wins-the-nobel-prize-2024-in-literature/
  • https://www.rte.ie/news/world/2024/1010/1474706-nobel-literature-prize/
  • https://www.aljazeera.com/news/2024/10/10/south-koreas-han-kang-wins-2024-nobel-prize-in-literature
  • https://edition.cnn.com/2024/10/10/style/han-kang-nobel-prize-literature-intl/index.html
  • https://www.nytimes.com/article/nobel-prizes-2024.html?auth=login-google1tap&login=google1tap#
  • https://www.bbc.com/news/articles/c206djljel1o?fbclid=IwY2xjawF2z3xleHRuA2FlbQIxMAABHQ5M1x0fbTCxRMbfWPB87Yr5WsrCnHq-cmXJe4QA8YcygC_kZsPeLyhuwQ_aem_eOdcq5bpgwWmrUltlx95Wg

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.