พลาดแล้วต้องทำอย่างไร หากเผลอ “กดลิงก์ปลอม”

ทุกวันนี้ พวกมิจฉาชีพมักใช้มุกส่ง “ลิงก์ปลอม” ที่ไม่เป็นมิตรต่ออุปกรณ์และเงินในบัญชีของเรา เป็นวิธีหลัก ๆ ในการตกเหยื่อ เพราะการเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แล้วโทรศัพท์มาแอบอ้าง คนเริ่มไหวตัวและรู้ทันกันเยอะขึ้น ต่างจากการส่งลิงก์ปลอมมาให้ในหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็น SMS, คอมเมนต์, ข้อความในไลน์, อีเมล และอื่น ๆ จากนั้นใช้กลอุบายหลอกล่อให้เรากดลิงก์ไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมันก็จะปะปนกับลิงก์ทั่วไปอื่น ๆ หากไม่อ่านให้ดีแล้วเผลอไปกดเข้า ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพโดยที่ไม่รู้ตัวก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่พลาดกดลิงก์ปลอมไปแล้ว แต่มาเอะใจหลังจากนั้นว่าตัวเองน่าจะกดลิงก์ปลอม นี่คือวิธีการเบื้องต้นที่ควรทำเมื่อเราเผลอกดลิงก์ปลอม เพื่อป้องกันความเสียหายให้เกิดน้อยที่สุด หรืออาจไม่เกิดความเสียหายอะไรเลยก็ได้ หากเราจัดการได้อย่างรวดเร็ว และไหวตัวทันก่อนที่จะถลำลึกลงไปมากกว่านี้

1. ตั้งสติให้ดี แล้วตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งหมดทันที

หากกดลิงก์ปลอมไปแล้ว และก็เพิ่งรู้สึกตัวขึ้นมาเดี๋ยวนั้นว่าตัวเองอาจจะกำลังถูกหลอก ลิงก์ที่กดไปอาจเป็นลิงก์ปลอม อย่าเพิ่งตื่นตระหนกจนทำอะไรไม่ถูก ให้ตั้งสติดี ๆ จากนั้นรีบตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของอุปกรณ์ที่ใช้กดลิงก์ทันที ตัดให้หมดทั้ง WI-FI และเครือข่ายมือถือ เพื่อลดความเสื่ยงที่ข้อมูลของเราจะหลุดออกไป กรณีที่ลิงก์นั้นเป็นลิงก์ที่ให้เรากดติดตั้งโปรแกรมบางอย่างในอุปกรณ์ของเรา การตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จะทำให้โปรแกรมไม่สามารถทำงานจากระยะไกลได้

2. ไม่กรอกข้อมูลอะไรทั้งสิ้น ในหน้าเว็บที่ลิงก์พาไป

เมื่อกดลิงก์ปลอมเข้าไปแล้ว ส่วนใหญ่ลิงก์นั้นจะพาไปยังหน้าที่ต้องดำเนินตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งมักจะเป็นหน้าที่ขอข้อมูลส่วนตัวของเรา หน้าแรก ๆ อาจเริ่มขอข้อมูลทั่ว ๆ ไปที่ไม่เฉพาะเจาะจง ประมาณว่ารู้แล้วก็ไม่น่าจะสร้างความเสียหายอะไร แต่เมื่อคลิกไปยังหน้าต่อ ๆ ไป ข้อมูลที่ขอจะเริ่มเป็นข้อมูลสำคัญที่เฉพาะเจาะจงและส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งหลายคนอาจจะเริ่มเอะใจขึ้นมาในขั้นตอนนี้นี่เอง ว่าทำไมถึงมาขอข้อมูลส่วนตัวกันลึกขนาดนี้

ถ้าเริ่มรู้ตัวแล้ว ก็อย่ากรอกข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ทั้งสิ้นลงไปอย่างเด็ดขาด ออกจากหน้าเว็บนั้นด้วยการปัดหน้าเว็บนั้นทิ้งไป (พยายามอย่าคลิกอะไรต่อในหน้านั้น) ออกมากดปุ่ม Home เพื่อปัดปิดการใช้งานแอปฯ เว็บเบราว์เซอร์ หรือเข้าไปที่การจัดการแอปพลิเคชันในตั้งค่า บังคับแอปฯ ให้หยุดทำงาน จากนั้นตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้เร็วที่สุด

3. ไม่กดอนุญาต/ยินยอม/ติดตั้ง จากข้อความใด ๆ ที่แจ้งมาทางหน้าจอ

หากลิงก์นั้นพาเราไปจนถึงหน้าที่กรอกข้อมูล หลายคนอาจเริ่มรู้ตัว การกดปุ่ม Back อาจมีข้อความเด้งขึ้นมาเพื่อไม่ให้เรากดออกไปได้ง่าย ๆ จะต้องกดยืนยันว่าจะออกจากหน้านี้ หรือจะกดยกเลิกเพื่อจะอยู่ในหน้านี้ต่อไป ดังนั้น จึงควรใช้วิธีปัดหน้าเว็บทิ้งไปแล้วทำให้แอปฯ เว็บเบราว์เซอร์หยุดการทำงานก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการกดอะไรต่อในหน้าเว็บนั้น

นอกจากนี้ กรณีที่หลุดกดถัดไปไปเรื่อย ๆ ให้ข้อมูลต่าง ๆ กับหน้าเว็บนั้นเข้าไปลึกแล้ว มันอาจจะมีหน้าจอที่แจ้งขออนุญาต/ยินยอม/ติดตั้ง อะไรสักอย่าง “ห้าม” กดอนุญาต/ยินยอม/ติดตั้ง อะไรก็ตามที่มีข้อความเด้งแจ้งขึ้นมาทางหน้าจออย่างเด็ดขาด อ่านให้ดี แล้วออกจากหน้าเว็บนั้นทันที ปิดการใช้งานแอปฯ เว็บเบราว์เซอร์ แล้วตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

4. ปิดการใช้งานแอปฯ ทั้งหมด (ปัดทิ้ง) จากนั้นตรวจสอบแอปฯ แปลกปลอม

หลังจากตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปแล้ว ให้รีบเคลียร์แอปฯ ที่เปิดใช้งานค้างไว้ทิ้งทั้งหมดก่อน เพื่อให้แอปฯ ที่กำลังทำงานอยู่หยุดทำงาน จากนั้นตรวจสอบอย่างรวดเร็วและถี่ถ้วนว่าอุปกรณ์ของเรามีการติดตั้งแอปฯ แปลกปลอมอะไรมาเพิ่มเติมแล้วหรือยัง ถ้าเจอแอปฯ ที่เราแน่ใจว่าไม่ได้กดดาวน์โหลดมาเอง หรือแอปฯ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นแอปฯ อะไร ดาวน์โหลดมาตั้งแต่เมื่อไร ให้ถอนการติดตั้งแอปฯ เหล่านั้นออก หรือถ้าเป็นไปได้ ให้กดล้างเครื่องใหม่ทั้งหมด ด้วยการ reset ทุกอย่างให้เป็นการคืนค่าจากโรงงานเลยก็ยิ่งดี (แต่ต้องยอมรับให้ได้ว่าแอปฯ อื่น ๆ ที่เราใช้งานอยู่จะหายไปทั้งหมด และข้อมูลการตั้งค่าต่าง ๆ ที่เราตั้งไว้ก็จะถูกคืนค่า เหมือนเป็นโทรศัพท์เครื่องใหม่ที่เพิ่งซื้อมา)

5. เปลี่ยนรหัสผ่านทุกบัญชีที่ใช้งาน พร้อมทั้ง log out ออกจากระบบในทุกอุปกรณ์

หากไม่ได้ล้างเครื่องด้วยการ reset ทุกอย่างให้เป็นการคืนค่าจากโรงงาน แอปฯ อื่น ๆ จะยังคงใช้งานได้ตามปกติ สิ่งที่ควรทำต่อจากนี้ คือ เข้าไปเปลี่ยนรหัสผ่านในทุกบัญชี โดยเฉพาะบัญชีแอปฯ ธนาคาร บัญชีแอปฯ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ บัญชีแอปฯ อีเมล พร้อมทั้ง log out ออกจากระบบให้หมดในทุกอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัย

6. เปิดการใช้งานการยืนยันตัวตนสองชั้น (2FA)

ปัจจุบันเว็บไซต์หรือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์หลาย ๆ เจ้ามีฟีเจอร์ใหม่เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งก็คือ การยืนยันตัวตนสองชั้น หรือ Two-factor authentication (2FA) เราจะต้องยืนยันตัวตนขั้นที่ 2 ให้ผ่านก่อน ระบบจึงจะอนุญาตให้เราเข้าใช้งานเว็บไซต์หรือแอปฯ ต่าง ๆ ได้ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์และบัญชีของเรา ไม่ให้ถูกเจาะเข้าถึงข้อมูลส่วนสำคัญได้อย่างง่ายดายเกินไป

พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้ามิจฉาชีพได้รหัสผ่านของเราไปแล้วพยายามจะเข้าสู่ระบบ ก็จะยังไม่สามารถเข้าระบบของเราได้ง่าย ๆ เพราะติดการยืนยันตัวตนในขั้นที่ 2 ต้องยืนยันตัวตนในขั้นนี้ให้ผ่านก่อนถึงจะเข้าได้ และระหว่างที่มีผู้ไม่หวังดีพยายามจะเข้าระบบ เราก็จะได้รับการแจ้งเตือนว่ามีผู้ไม่หวังดีกำลังพยายามจะเข้าระบบของเรา

7. ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีต่าง ๆ ว่ามีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติหรือไม่

หลังจากที่พยายามป้องกันทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือรอดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างแรกที่ต้องตรวจสอบ คือความเคลื่อนไหวของบัญชีต่าง ๆ โดยเฉพาะบัญชีธนาคาร ว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติหรือไม่ หากมีให้รีบติดต่อธนาคารทันที และดำเนินการแจ้งความ ส่วนบัญชีโซเชียลมีเดีย ก็อย่างเช่นว่ามีการโพสต์อะไรที่เราไม่ได้โพสต์เอง มีการเพิ่มเพื่อนใหม่ที่เราไม่รู้จัก หรือเริ่มมีเพื่อนติดต่อมาว่าเราติดต่อไปหาเพื่อนคนอื่น ๆ โดยที่เราไม่ได้เป็นคนทำ เป็นไปได้ว่าบัญชีโซเชียลมีเดียของเรากำลังถูกคนอื่นสวมรอย ให้กลับไปทำขั้นตอนที่ 5 และ 6 อีกครั้ง

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.