กราบ "หลวงพ่อพระเสี่ยง" เอาฤกษ์เอาชัยรับปีใหม่ ในบรรยากาศ "ล้านช้างโบราณ" ณ วัดเจริญศรี จ.หนองคาย

เช้าตรู่ของวันสุดท้ายของปี พ.ศ. 2566 ถือเป็นวันสำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนาหนัง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เพราะวันนี้เป็นวันเดียวของปีที่ชาวบ้านจะได้มีโอกาสกราบสักการะ “หลวงพ่อพระเสี่ยง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำตำบล เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยรับปีใหม่ พร้อมแต่งตัวสวยๆ สไตล์ “ล้านช้างโบราณ” ที่แน่นอนว่าไม่ใช่เครื่องแต่งกายที่จะได้สวมใส่กันทุกวัน ซึ่งเราก็มีโอกาสได้ไปร่วม “งานบุญ” ที่เปี่ยมไปด้วยความศรัทธา ความอิ่มอกอิ่มใจ รวมถึงรอยยิ้มของผู้คนที่มาร่วมในงานนี้ และนี่คือสิ่งที่ Sanook อยากเล่าให้ทุกคนได้ฟัง

หลวงพ่อพระเสี่ยง

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “หลวงพ่อพระเสี่ยง” หรือ “พระเสี่ยง” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้างที่เก่าแก่และแสนสวยงาม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองโพนพิสัย ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดมณีโคตร ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แต่รู้หรือไม่ว่าในอำเภอโพนพิสัยแห่งนี้ ยังมีหลวงพ่อพระเสี่ยงอีกพระองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดเจริญศรี” ในตำบลนาหนัง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่จะอัญเชิญหลวงพ่อออกมาให้คนทั่วไปได้กราบไหว้สักการะปีละครั้งเท่านั้น

พระอธิการวัฒนชัย ปุญฺญชโย เจ้าอาวาสวัดเจริญศรี บอกเล่าตำนานให้ฟังว่า หลวงพ่อพระเสี่ยงวัดเจริญศรีถูกค้นพบโดยเจ้าอาวาสองค์เดิมของวัดเมื่อหลายสิบปีก่อน ขณะที่ท่านกำลังกวาดลานวัดอยู่ โดยเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่อีกองค์หนึ่งในสมัยล้านช้าง  มีอายุราว 600 ปี และถูกสร้างขึ้นให้เป็น “พระเสี่ยงทาย” ประจำเมือง โดยถูกอัญเชิญมาทางฝั่งไทยพร้อมกับพระใส พระแสน พระเสริม และพระสุก 

หลวงพ่อพระเสี่ยงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านในพื้นที่ โดยคำบอกเล่าของคนแก่คนเฒ่าสะท้อนให้เห็นอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อที่ทำให้คนในพื้นที่เลื่อมใสและศรัทธาเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาคือหลวงพ่อพระเสี่ยงไม่ยอมไปจากหมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อครั้งถูกขโมยเข้ามายกไปจากวัด หลวงพ่อก็แสดงอภินิหารทำให้องค์พระหนักจนกลุ่มโจรต้องทิ้งหลวงพ่อไว้ที่ลำธาร กระทั่งชาวบ้านมาตามหาจนพบ จึงได้ก่อสร้างหอคำเพื่อให้หลวงพ่อพระเสี่ยงประดิษฐอยู่ในนั้น และจะอัญเชิญหลวงพ่อออกมาให้ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงผู้ศรัทธา ได้กราบไหว้สักการะเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ในวันส่งท้ายปี 31 ธันวาคม

พระอธิการวัฒนชัย ปุญฺญชโย

ไหว้พระขอพรส่งท้ายปีเก่า

วัดเจริญศรีเลือกวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีให้เป็น “งานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยง” ซึ่งตรงกับวันส่งท้ายปีเก่า จึงถือเป็นฤกษ์งามยามดีสำหรับการไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัยเพื่อการเริ่มต้นปีใหม่ที่สวยงาม โดยวัดเจริญศรีได้ทำการร่วมมือกับชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ จัดขบวนและพิธีสักการะองค์หลวงพ่อพระเสี่ยงขึ้น ในตีมงาน “ล้านช้างโบราณ” เพื่อจะมอบประสบการณ์ใหม่ที่เชื่อว่าหลายคนไม่เคยได้สัมผัส

สิ่งที่โดดเด่นมากๆ ในงานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงคือ “บายศรี” ซึ่งเป็นบายศรีแบบโบราณที่งดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นงานฝีมือของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อพระเสี่ยง พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อสรรสร้างบายศรีแบบล้านช้างที่ต้องใช้ทักษะและฝีมือชั้นครู จึงจะสามารถทำบายศรีที่สวยสดงดงามและตระการตาแบบนี้ได้ เรียกว่านอกจากได้สักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงแล้ว การได้มีโอกาสไปดูงานฝีมือสุดวิจิตรเหล่านี้ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ได้ไปร่วมงานแล้ว

อีกหนึ่งไฮไลท์คือ “นางรำ” ที่พวกเธอมารวมตัวฟ้อนรำถวายหลวงพ่อ โดยนางรำประกอบไปด้วยชาวบ้านหลากหลายวัย แต่มาด้วยหัวใจเดียวกัน และเพลงที่ใช้ก็เป็นเพลงบรรเลงแบบโบราณที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ เมื่อประกอบกับท่าร่ายรำที่อ่อนช้อยและงดงาม รวมถึงชุดผ้าไหมคาดสไบที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์แบบล้านช้าง และเครื่องประดับแบบโบราณที่แต่ละคนขนมาสวมใส่แบบไม่มีใครยอมใคร ก็ยิ่งทำให้การรำถวายหลวงพ่อพระเสี่ยงเป็นพิธีกรรมการแสดงที่สวยงามและไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นจากที่ไหน 

ความร่วมมือของคนในพื้นที่

สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “ขบวนแห่” ที่ชาวบ้านในพื้นที่สวมเสื้อผ้าแบบโบราณมารวมตัวกัน เพื่อแห่หลวงพ่อพระเสี่ยงอันศักดิ์สิทธิ์ไปรอบหมู่บ้านให้ทุกคนได้ชื่นชมและสักการะ โดยในขบวนประกอบด้วยขบวนที่หลากหลายและสวยงาม โดยเฉพาะขบวน “ทุง” ซึ่งมีลักษณะคล้ายตุงทางภาคเหนือ แต่มีสีสันสดใส ช่วยสร้างสีสันและความสดชื่นให้กับขบวนแห่ แต่ก็ไม่ละทิ้งกลิ่นอายความเป็นล้านช้างโบราณ

ความประทับใจที่สุดเห็นจะเป็น “การแต่งกาย” ของคนที่เข้ามาร่วมงาน โดยผู้หญิงจะนุ่งซิ่นที่มีลวดลายสวยงามและหลากหลาย สวมเสื้อผ้าฝ้ายแขนกระบอกหรือแขนยาว พร้อมใช้ผ้าเบี่ยง (ผ้าสไบ) ทับ พร้อมกับเครื่องประดับโบราณ ที่ทำให้ผู้หญิงทุกคนที่มาร่วมงานกลายเป็นสาวสวยที่เหมือนหลุดออกมาจากในวรรณคดีอย่างไรอย่างนั้น ด้านผู้ชายก็จะนุ่งโสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมเสื้อแขนสั้น เรียกว่าทั้งหัวขาวและหัวดำก็กลายเป็นหนุ่มโบราณที่มีเสน่ห์น่าค้นหาขึ้นมาทันที

แม้วัดเจริญศรีจะเป็นวัดเล็กๆ ที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในตำบลนาหนัง แต่พลังของพระสงฆ์และสามเณรในวัด รวมกับพลังของชาวบ้านในพื้นที่ ก็แปรเปลี่ยนให้งานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงที่อาจจะดูแสนธรรมดา กลายเป็นงานประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใหญ่ และควรค่าแก่การได้ไปร่วมสัมผัสสักครั้ง

หากใครมีโอกาสได้แวะเวียนไปโพนพิสัยช่วงสิ้นปี ก็หาเวลาเข้าไปสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงและสัมผัสความยิ่งใหญ่ของพลังแห่งความร่วมมือของผู้คนที่มีจิตสำนึกรักบ้านเกิดดูนะ แล้วจะไม่ผิดหวังเลย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.