ยกระดับ “นครยะลา” สู่ “สมาร์ท ซิตี้” เต็มรูปแบบ

การพัฒนาจังหวัดยะลา ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มต้นการพัฒนาจากศูนย์กลาง นั่นคือ “เทศบาลนครยะลา” ให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ ซึ่งเริ่มต้นการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2564 ภายหลังรัฐบาลได้ประกาศให้เทศบาลนครเมืองยะลา เป็นหนึ่งในเมืองสมาร์ท ซิตี้ ของประเทศไทยในระยะแรก เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม และมีความเหมาะสมในการยกระดับให้เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขอย่างยั่งยืน

 

“พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ” นายกเทศมนตรีนครยะลา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองยะลาไปสู่การเป็นสมาร์ท ซิตี้ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันขอบเขตของเทศบาลนครยะลา มีชุมชนต่าง ๆ ภายใต้การดูแลกว่า 43 ชุมชน ครอบคลุมประชากร 60,291 คน (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566) ซึ่งการยกระดับเมืองยะลาไปสู่เมืองน่าอยู่ทันสมัย ได้นำเอาเทคโนโลยีหลายอย่างมาใช้เพื่อช่วยในด้านการบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการบริการ ทั้งการบริการสาธารณสุข และสวัสดิการของบุคคล

 

สำหรับการทำงานในช่วงที่ผ่านมา เทศบาลนครยะลาได้เริ่มต้นการยกระดับการพัฒนาเมืองครอบคลุมด้านสำคัญ 4 ด้านหลัก ประกอบไปด้วย

 

1. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) โดยมุ่งยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิต ด้วยการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Free WiFi) ครอบคลุมทุกมุมเมืองระบบกล้องวงจรปิด ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมือง (Urban Safety) ระบบเสาไฟอัจฉริยะ (Smart pole) บนฐานของการใช้นวัตกรรม loT (Internet of Things) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หรือส่งข้อมูลระหว่างกันด้วยอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ

 

2.การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) มุ่งใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม โดยพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม การบริหารจัดการเทศบาลนครยะลา เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมต่อกับประชาชนไม่ว่าจะเป็นการรับเรื่องร้องเรียน การสื่อสารกับประชาชน การทำประชามติ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการรองรับภัยพิบัติ หรือโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกกลุ่มวัยอย่างทั่วถึง

 

3.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) โดยมุ่งพัฒนาจุดเด่นของเมืองยะลาด้านการเป็นเมืองสีเขียว ผังเมืองสวย มีมาตรฐานสากล และเมืองแห่งความสะอาดให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น มีการตรวจวัดและรายงานคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อากาศ ฯลฯ จัดให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า หล่อเลี้ยงเมืองด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม

 

4.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) โดยมุ่งใช้ต้นทุนอัตลักษณ์ในพื้นที่ และการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่รองรับการขยายตัวของธุรกิจดิจิทัล และเสริมมูลค่าให้กับการตลาดการค้าการลงทุน และตลาดแรงงานในพื้นที่ ด้วยการพัฒนาระบบ E-commerce ธุรกิจการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เพิ่มโอกาสในการขาย และสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนสร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดบริษัทจัดตั้งใหม่ (Startup) เข้ามาในเมือง

 

“พงษ์ศักดิ์” ยอมรับว่า นอกเหนือจากการพัฒนาทั้ง 4 ด้านที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะแล้ว สิ่งที่เทศบาลนครยะลา กำลังเตรียมเดินหน้าพัฒนาต่อไปนั่นคือการสร้างระบบการจัดการข้อมูลพื้นที่ หรือ Digital Data Platform ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลสำคัญของเมืองทั้งหมดเข้ามาไว้ในจุดเดียว ทั้งข้อมูลประชากร ข้อมูลสวัสดิการ ข้อมูลที่อยู่อาศัย และข้อมูลแผนที่ เช่น การนำเทคโนโลยีโดรนบินสำรวจข้อมูลพื้นที่เพื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งข้อมูลครัวเรือนพื้นที่ทำกินไปบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างถูกต้องและตรงจุด

 

“เมื่อข้อมูลที่จัดเก็บลงไปใน Digital Data Platform มีความพร้อมแล้วเชื่อว่าจะง่ายต่อการบริหารจัดการทรัพย์สินในอนาคตเพื่อให้การจัดสรรงบประมาณและนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง เช่นเดียวกันข้อมูลด้านการบริการประชาชนหรือการนำสวัสดิการต่างๆ เข้ามารวมไว้ในระบบและในอนาคตจะดึงข้อมูลเชื่อมต่อกับระบบการจัดการภัยพิบัติ หากเกิดภัยพิบัติขึ้นจะได้รู้ตำแหน่งการเคลื่อนย้ายของคนในพื้นที่เพื่อพิจารณาคนที่ต้องการจะย้ายก่อนอยู่ตรงไหนตั้งแต่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กทารก หรือผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เทศบาลกำลังดำเนินการอยู่” นายกเทศมนตรีนครยะลา ระบุ

 

นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวด้วยว่า ในอนาคตข้างหน้าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเมืองถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะจะทำให้การบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ง่ายขึ้นและส่งตรงไปถึงมือประชาชนได้ในทันทีซึ่งการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้นั้น ที่ผ่านมาเทศบาลนครยะลามีโอกาสเข้าไปร่วมชมงาน Thailand Smart City ซึ่งจัดโดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และได้นำองค์ความรู้ รวมไปถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบต่าง ๆ มาปรับใช้กับเมืองได้ โดยในปี 2566 นี้ เทศบาลนครยะลา จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูงานเพื่อนำมาปรับใช้ในพื้นที่ต่อไป เพราะส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง นั่นคือการแข่งขันกันระหว่างเมืองในการดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดยะลาเอง ณ ขณะนี้มีความพร้อมเป็นเมืองที่เปิดขึ้นมารองรับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ภายหลังจากความไม่สงบได้คลี่คลายลงแล้ว

 

สำหรับผู้สนใจสามารถร่วมงาน “Thailand Smart City 2023” งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีระดับนานาชาติด้านเมืองอัจฉริยะ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2566 ณ ฮอลล์ 3-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.thailandsmartcityexpo.comหรือติดตามข่าวสารของงานได้ที่ Facebook: ThailandSmartCityExpo

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.