เปิดปากกับภาคภูมิ กับการพัฒนาตัวเองในฐานะคนข่าว “งานข่าวคืองานที่ต้องทำวันนี้ให้ดีขึ้นเลย รอพรุ่งนี้ไม่ได้”

นักเขียน : a day

ใครเกาะติดหน้าจอรอดูข่าวหรือรักในการเสพข่าวเป็นชีวิตจิตใจ ‘ไทยรัฐนิวส์โชว์’ น่าจะเป็นคำตอบแรกๆ ที่หลายคนคิดถึง 

ทั้งเนื้อหาข่าว สไตล์การอ่านข่าวของพิธีกรที่เอาอยู่ในทุกรูปแบบ และที่ขาดไม่ได้ก็คือกราฟิกในห้องส่งที่ใช้เทคโนโลยีแบบ Immersive จำลองเหตุการณ์เสมือนจริง ชนิดที่ว่าข่าวเกิดขึ้นที่ไหน คนดูไม่ต้องจินตนาการเองเพราะไทยรัฐทีวีเขาจำลองเหตุการณ์เสมือนจริงให้เห็นแบบครบทุกเรื่อง เก็บทุกเม็ด 

และเมื่อพูดถึงผู้ประกาศข่าวช่องไทยรัฐทีวี ชื่อของ อุ๋ย-ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ ต้องมาแล้ว


สุ้มเสียง ลีลา ท่าทางการอ่านข่าวที่ไม่ว่าจะประกบคู่กับผู้ประกาศหญิงคนไหนก็เติมเต็มกันได้เหมาะเจาะลงตัว หรือถ้าให้เขาเล่าข่าวประกอบภาพ ก็ อุ๋ย ภาคภูมิ อีกนั่นแหละ ที่เมื่อไม่กี่ปีก่อน ลงทุนคลานในกรีนสกรีนออกมาจากกราฟิกจำลองถ้ำหลวง ตอนที่ทุกช่องรายงานข่าวทีมหมูป่าติดอยู่ในถ้ำกันอย่างครึกโครม 

ได้ทั้งความสมจริงและได้ใจคนดู รสชาติข่าวที่หลายคนติดใจล้วนเริ่มจากผู้ประกาศนี่เอง 

ไม่ใช่แค่ ‘ไทยรัฐนิวส์โชว์’ ที่ออกอากาศทุกวัน ตั้งแต่เวลา 19.00 น. แต่ ‘เปิดปากกับภาคภูมิ’ ออกอากาศทุกวันจันทร์–ศุกร์ เวลา 15.30 น. ก็เป็นอีกรายการทอล์กที่หลายคนต้องเปิดดู เพราะนั่นคือการขยี้ประเด็นสำคัญในแต่ละเรื่องให้หายคาใจ 

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ อุ๋ย ภาคภูมิ ในรายการ The Conversation ไม่นานมานี้ และก่อนที่เราจะได้ดูรายการกันแบบเต็มๆ นี่คือการเก็บตกบทสนทนาบางตอนมาเล่าสู่กันฟัง ถือว่าเรามาเปิดปากกับภาคภูมิ โดยมีภาคภูมิเป็นฝ่ายตอบก็แล้วกัน

เปิดปากเรื่องแรก อุ๋ย ภาคภูมิ บอกเราว่า เขาทำงานกับไทยรัฐทีวีมาราวๆ 6-7 ปี และที่เลือกมาทำงานกับที่นี่ ก็เพราะเอกลักษณ์ของช่องที่เน้นหนักไปทางข่าว 

“ไทยรัฐเขาประมูลช่อง HD มาเพื่อทำข่าว เพราะเขาอยากให้คนดูข่าวแบบชัดๆ เขาต้องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการนำเสนอข่าว แล้วก็มี Immersive Graphic หรือ Infographic ต่างๆ มาช่วยเยอะมาก คิดดูว่าผังรายการของไทยรัฐทีวี 80-90% คือข่าว เพราะฉะนั้น เมื่อเราเติบโตมากับการเป็นนักข่าว การจะไปเป็นผู้ประกาศข่าวหรือบรรณาธิการข่าว เราก็รู้สึกว่าแนวทางนี้มันเข้ากับตัวตนของเรา

ถามว่าชอบข่าวแบบเข้าเส้นเลยไหมอันนี้ก็ไม่แน่ใจ รู้แต่หายใจเข้าออกเป็นข่าวไปแล้ว จะเดินไปเดินมา นั่งคิดนอนคิด วันหยุดหรือไม่หยุดก็แล้วแต่ พอเราเห็นอะไรผ่านหูผ่านตาที่จะมาเป็นคอนเทนต์ข่าวของเราได้ มันจะคิดต่อยอดทันที แล้วต้องทำ ต้องพูด ต้องคุยกับทีมงาน กับกองบรรณาธิการทันที แต่ไม่ได้ถึงขั้นที่ว่าเหน็ดเหนื่อยสาหัส เบื่อเหลือเกิน มันไม่ใช่ รู้แต่ว่ามันเป็นชีวิตจิตใจไปแล้ว” 

เจ้าตัวย้ำว่า มีเวลาพักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง เหมือนกับทุกคน แต่ความสุขของเขาก็คือการรับรู้ข่าวสาร และได้นำเสนอข่าวในรูปแบบที่เขาและทีมงานเชื่อนั่นเอง 


“ทำงานแล้วมีความสุข ถ้าให้หยุดไปพักเฉยๆ แบบนี้ไม่ไหว ผมอยู่ไม่สุข ไม่มีความสุขเลย” ภาคภูมิส่ายหน้าประกอบเมื่อเราถามว่าอยากหยุดพักไปนอนเล่นบ้างไหม

สนุกกับข่าวสารขนาดนี้ แน่นอนว่าเขาต้องรู้ว่า DNA ของคนข่าวที่แท้อยู่ตรงไหนและอะไรที่ไม่ใช่ 

“น่าจะเป็นเรื่องของ ความกระหาย ความใฝ่รู้ เห็นข่าวอะไรสักอย่างแล้วรู้สึกมีแพสชัน อยากจะรู้ว่า จริงๆ แล้วมันคืออะไร เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเห็นอะไรสักอย่างแล้วเฉยๆ ผ่านๆ อันนี้ก็อาจจะไม่ใช่ละ เพราะถ้ามีความกระหาย มันก็จะต่อยอดมาสู่ความรู้สึกอยากจะไปตามเรื่องนี้ต่อ 


“ผมว่าธรรมชาติของคนข่าวทุกคนมันมาโดยไม่รู้ตัวอยู่แล้ว เพราะไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้น มันคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง นักข่าวทุกคนจะรู้โดยจมูกข่าว โดยสัญชาตญาณข่าวว่าน่าทำ เรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ คนสนใจแน่ๆ มันจะต้องไปหาคำตอบมาให้เขาให้ได้อะไรอย่างนี้ ถามว่าความท้าทายในการทำงานอยู่ตรงไหน ผมว่ามันท้าทายยากง่ายแตกต่างกันไปในแต่ละคน เพราะว่างานข่าวมันก็แบ่งแยกออกเป็นหลายแขนง ในแต่ละแขนงก็มีแต่ละหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบแตกต่างกันไป

“ถ้าถามผม ในฐานะผู้ประกาศ มันก็อาจจะเป็นเรื่องของสถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน การตัดสินใจมันก็ต้องฉับพลันไปด้วย เวลาเตรียมตัวอาจจะน้อยหน่อยเพราะต้องแข่งขันกับเวลา เช่น มีระเบิดตูมตาม อุบัติเหตุใหญ่ คดีอาชญากรรม หรือว่าเหตุด่วนเหตุร้ายอะไรก็แล้วแต่ ตรงนี้มันต้องใช้ประสบการณ์ของกองบรรณาธิการข่าวทั้งกองที่จะต้องเข้ามาช่วยกันในการที่จะนำเสนอเรื่องนี้ออกหน้าจอ” 

คนดูอาจไม่รู้ว่า การทำงานเบื้องหลังเป็นอย่างไร ทำอะไรกันบ้าง แต่คนหน้าจอนั้นปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ 

“เมื่อผ่านกระบวนการคิด การตัดสินใจ ของทีมงานทั้งหมดมาแล้ว เราต้องทำให้ดีที่สุดเวลาออนแอร์หน้าจอ ผู้ประกาศข่าว ณ ขณะนั้นเหมือนเป็น Gatekeeper เป็นประตูด่านสุดท้าย ก่อนนำเสนอข่าวออกไปสู่สายตาคนดู บางทีต้องคิดไม่กี่นาทีก่อนออนแอร์ หรือในระหว่างออนแอร์ด้วยซ้ำว่าเรื่องนี้ควรพูดหรือไม่ควรพูด ควรพูดมากน้อยขนาดไหน ต้องระวังผลกระทบกับหลายฝ่าย เพราะบางเหตุการณ์มันเป็นชีวิตจริงที่ยิ่งกว่าละครอีก อย่างตอนที่ทำข่าวทีมหมูป่าติดถ้ำที่ขุนน้ำนางนอน 


“หรือเหตุการณ์ที่ใกล้กว่านั้นก็การเลือกตั้ง 66 ต้องบอกว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีประเด็นต่อเนื่องยาวนานไปถึงช่วงหลังเลือกตั้ง โอ้โห มันเป็นการเมืองที่เราก็ไม่เคยได้สัมผัสแบบนี้มาก่อนเหมือนกัน ไหนจะพรรคการเมืองเอง ความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบของการหาเสียง กฎกติกา รัฐธรรมนูญ อะไรอีกต่างๆ มันก็ถือเป็นความท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง เราต้องหาข้อมูล ต้องแม่นเรื่องกฎหมาย ไหนจะมีการ Debate กันอีก”

เรียกว่าเป็นสถานีที่จริงจังตั้งใจในการนำเสนอข่าวมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ 

เพราะถ้าคุณมาเกาะติดหน้าจอไทยรัฐนิวส์โชว์ตั้งแต่หนึ่งทุ่ม คุณจะรับรู้ข่าวสารยาวไปจนถึงราวๆ เกือบ 5 ทุ่ม 

เพราะเราคือสถานีข่าว ถ้าท่านชอบดูข่าว ท่านก็มาดูเรา ไม่ต้องมาอยู่กับผม 3-4 ชั่วโมงก็ได้ แต่อยากดูข่าวเรื่องไหนประเด็นไหน ขอให้แวะเวียนมาดูที่เราก็แล้วกัน (หัวเราะ) 

ลงท้ายแล้ว เขาเชื่อว่าแม้โลกจะเปลี่ยนไป และโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมมากขึ้น แต่คนดูก็ยังชอบติดตามข่าวสารและผู้ประกาศที่เขาเชื่อถือและชื่นชอบในอรรถรสลีลาการนำเสนอข่าวของแต่ละคน 

“แม้ทุกวันนี้ทุกคนสามารถเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เป็นพิธีกร นักข่าวกันได้ง่ายๆ แต่สุดท้ายก็ต้องสร้างความโดดเด่นขึ้นมา โอเค ถ้าในแง่การดูข่าว แน่นอนว่าคนดูย่อมต้องการความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง ชัดเจน แต่ในยุคสมัยนี้ผู้ประกาศก็ต้องเติมอรรถรส ลีลา หรือว่าคาแรกเตอร์ของแต่ละคนที่จะทำให้คนรู้สึกว่าสื่อสารกันได้  จับต้องได้ ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนเป็นแบบไหน และคนจะชอบไม่ชอบ ก็ไม่มีใครตัดสินเราได้หรอก ตัวเราเองก็ตัดสินไม่ได้ เพื่อนรอบข้างก็ตัดสินไม่ได้ ไม่มีใครตัดสินเราได้ นอกจากคนดู


“ทุกวันนี้ ทำงานเหมือนไปสอบทุกวัน มีผลคะแนนออกทุกวัน ผมจัดรายการข่าวเมื่อวานกับจัดตอนค่ำอีกหนึ่งรายการ ตอนเที่ยงวันนี้รู้แล้วว่าเรตติ้งได้เท่าไหร่ แล้วคู่แข่งในเวลาเดียวกันหรือรายการประเภทเดียวกันได้เท่าไหร่ ตัวเลขมันไม่เคยโกหกใคร เราต้องมาวิเคราะห์ว่า ทำไมเราได้มากได้น้อย เพราะคอนเทนต์ เพราะพิธีกร หรืออะไร เพราะฉะนั้นผมว่าคนข่าวในยุคนี้ไม่ง่ายที่จะโดดเด่นขึ้นมา หรือว่าถูกใจคนดูคนฟัง แต่ถ้าถามว่ามันยากเกินไปไหม ก็คงไม่ใช่ แต่ถามว่าเครียดกับตัวเลขไหม ก็เครียดแป๊บเดียว (หัวเราะ)​

“งานข่าวทำให้ผมรู้ว่า ผมจะไปรอทำพรุ่งนี้ให้ดีขึ้นไม่ได้หรอก วันนี้ บ่ายนี้ ค่ำนี้ ผมต้องทำให้มันดีขึ้นเลย เราต้องวิเคราะห์ในเชิงกลยุทธ์การนำเสนอข่าวด้วย การทำงานข่าวต้องยึดหลักจริยธรรมของสื่อมวลชน แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับเรื่องของอรรถรสในการนำเสนอข่าว เราต้อง balance กันให้ดี ระหว่างเรื่องที่คนดูอยากดูกับเรื่องที่เป็นประโยชน์ เพราะต้องยอมรับว่าข่าวมันก็มีทั้งแบบที่คนดูอยากรู้  กับเรื่องที่เขาควรต้องรู้ บางเรื่องไม่ได้ตอบโจทย์เรตติ้งแต่ตอบโจทย์เรื่องประโยชน์ของคนดูและสังคม”

สำหรับแฟนๆ รายการของ อุ๋ย–ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ สามารถอัปเดตเรื่องราวส่วนตัวของเขาทางโซเชียลมีเดียได้ที่ TikTok, Instagram และ Facebook อุ๋ย ภาคภูมิ ยามเฝ้าข่าว และติดตามผลงานได้ทางไทยรัฐทีวีช่อง 32 และทุกช่องทางออนไลน์


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ถ่ายภาพ: ธีรเมธ เชิดวงศ์ตระกูล

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.