เสียวหมี่ เผยกำไรสุทธิ ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 สูงขึ้น 182.9% เป็น 6 พันล้านหยวน

เสียวหมี่ คอร์เปอเรชั่น ("เสียวหมี่" หรือ "กลุ่มธุรกิจ"; Stock Code:1810) บริษัทด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะด้วยการเป็นผู้นำด้านสมาร์ทโฟนและสมาร์ทฮาร์ดแวร์ที่เชื่อมต่อบนแพลตฟอร์ม Internet of Things (IoT) เผยผลการดำเนินงานไม่สอบทานสำหรับสามเดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 (“ไตรมาส 3 ปี 2566” หรือ “ช่วงเวลา”) นับตั้งแต่ได้เริ่มการดำเนินงานตามกลยุทธ์หลักขององค์กรที่มุ่งเน้น “การขยายธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไร” ควบคู่ไปกับการพัฒนากลยุทธ์ premiumization ทำให้เสียวหมี่นั้นสามารถเพิ่มทั้งรายได้และผลกำไรอย่างมีนัยสำคัญ

 

โดยมีผลการดำเนินงานรายไตรมาสที่สร้างสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 6 ไตรมาส มีกำไรประจำไตรมาสที่สูงที่สุดในรอบ 2 ปี ในไตรมาส 3 ปี 2566 เสียวหมี่มีรายรับรวมสูงถึง 70.9 พันล้านหยวน และมีกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 6 พันล้านหยวน เติบโตขึ้น 182.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) และเป็น 1.7 เท่าของกำไรรวมของปีที่แล้วซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

 

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มร. เหลย จุน (Lei Jun) ผู้ก่อตั้ง ประธาน และซีอีโอของเสียวหมี่ คอร์เปอเรชั่น (Xiaomi Corporation) ได้ตั้งเป้าหมายใหม่สำหรับปี 2563-2573 ภายใต้เป้าหมายใหม่ กลุ่มบริษัทมุ่งมั่นที่จะลงทุนอย่างยั่งยืนในเทคโนโลยีหลักพื้นฐาน และมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยระดับโลก

 

การตอกย้ำความมุ่งมั่นอันแข็งแกร่งของเสียวหมี่ด้วยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (“R&D”) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงถึง 5 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) และมีจำนวนบุคลากรทางด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วนมากกว่า 53% ของจำนวนบุคลากรทั้งหมด กลุ่มบริษัทได้ยกระดับกลยุทธ์จาก “Smartphone x AIoT” ไปสู่ “Human x Car x Home” และเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ที่มีชื่อว่า Xiaomi HyperOS ซึ่งรวบรวมทุกความต้องการของผู้บริโภคไว้ในระบบนิเวศอัจฉริยะ (Ecosystem) แห่งเดียว ตั้งแต่อุปกรณ์ส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์บ้านอัจฉริยะ ไปจนถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่อัจฉริยะ

 

เสียวหมี่ ได้ดำเนินกลยุทธ์โดยเน้น 2 ด้านคือ “ด้านขนาดของธุรกิจและความสามารถในการทำกำไร" อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในไตรมาส 3 ของปี 2566 อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มบริษัทสูงถึง 22.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 ไตรมาสติดต่อกัน ปริมาณสินค้าคงคลังรวมอยู่ที่ 36.8 พันล้านหยวน ลดลง 30.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) นับเป็นการแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งการลดลงดังกล่าวทำให้เสียวหมี่สามารถปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ทรัพยากรเงินสดของกลุ่มบริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 127.6 พันล้านหยวน ซึ่งถือเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับเสียวหมี่ในการส่งเสริมนวัตกรรม

 

สมาร์ทโฟนระดับพรีเมียมมียอดขายและการยอมรับ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงเป็นประวัติการณ์

 

ในไตรมาส 3 ของปี 2566 การจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกลดลงเล็กน้อย 1.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน เสียวหมี่ได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ โดยแสดงการเติบโตทั้งปีต่อปี (“YoY”) และไตรมาสต่อไตรมาส (“QoQ”) บริษัทมีการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกจำนวนถึง 41.8 ล้านเครื่อง นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาสที่ผ่านมา

 

ในช่วงเวลานี้ ธุรกิจสมาร์ทโฟนของเสียวหมี่มีการเติบโตของรายได้ 13.8% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แตะที่ 41.6 พันล้านหยวน อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 16.6% เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์หลักของกลุ่มบริษัท เสียวหมี่ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยกลยุทธ์ระดับพรีเมียม

 

ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ใช้อย่างกว้างขวางและทำให้มียอดขายที่ทะลุเป้า โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมากลุ่มบริษัทได้เปิดตัว Xiaomi 14 Series ในประเทศจีน ในช่วง 5 นาทีแรกหลังจากเปิดตัว Xiaomi 14 Series สามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 6 เท่าของยอดขายเริ่มแรกของ Xiaomi 13 Series ซึ่งเกิน 1 ล้านเครื่องในช่วงการขายเริ่มแรก และได้รับคะแนนเชิงบวกมากกว่า 99% บนแพลตฟอร์ม JD.com เสียวหมี่ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียม 6 ซีรีส์ติดต่อกัน รวมถึง Xiaomi 14 Series ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมากจากลูกค้าในเดือนแรกหลังจากเปิดตัวสู่ตลาด

 

จากข้อมูลของ Canalys เสียวหมี่เป็นแบรนด์เดียวใน 3 อันดับแรกที่มียอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนในไตรมาสนี้ นับเป็นการฟื้นตัวและเติบโตอีกครั้งด้วยส่วนแบ่งการตลาด 14.1% เสียวหมี่ยังคงรักษาอันดับที่ 3 ของการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกได้เป็นเวลาถึง 13 ไตรมาสติดต่อกัน โดยติด 3 อันดับแรกใน 55 ประเทศและภูมิภาค และติด 5 อันดับแรกใน 65 ประเทศและภูมิภาค ซึ่งตอกย้ำสถานะของบริษัทในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรม

 

เสียวหมี่ยังคงปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจค้าปลีกใหม่อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของบุคคลที่สาม ในไตรมาส 3 ของปี 2566 การจำหน่ายผ่านช่องทางออฟไลน์มีสัดส่วนมากกว่า 55% ของสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียมทั้งหมดที่จำหน่ายในประเทศจีน โดยในเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ล่าสุด มูลค่าสินค้ารวมสะสม (GMV) ของเสียวหมี่มีมูลค่ามากกว่า 22.4 พันล้านหยวน นับเป็นการสร้างสถิติใหม่ในช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง

 

ยกระดับการเชื่อมต่อผลิตภัณฑ์ไปสู่อีกระดับ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของกลุ่มผลิตภัณฑ์ IoT และกลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์

 

ในไตรมาส 3 ของปี 2566 รายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ IoT และผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มบริษัทอยู่ที่ 20.7 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) และอัตรากำไรขั้นต้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 17.8% เพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY)

 

ผลิตภัณฑ์ระบบนิเวศของเสียวหมี่ (Xiaomi’s ecosystem products) มีข้อได้เปรียบในการเชื่อมต่อระหว่างกัน ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 จำนวนอุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อ (ไม่รวมสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และแล็ปท็อป) บนแพลตฟอร์ม AIoT ของกลุ่มบริษัทมีจำนวนถึง 699 ล้านเครื่อง ซึ่งเพิ่มขึ้น 25.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) จำนวนผู้ใช้ที่มีอุปกรณ์ 5 เครื่องขึ้นไปเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม AIoT ของกลุ่มบริษัท (ไม่รวมสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และแล็ปท็อป) สูงถึง 13.7 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 26.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY)

 

สมาร์ททีวีของเสียวหมี่ ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำในประเทศจีน จากข้อมูลของ All View Cloud (“AVC”) ในไตรมาส 3 ของปี 2566 การจัดส่งทีวีของกลุ่มบริษัทอยู่ในอันดับที่ 1 ในประเทศจีน นอกจากนี้ ตามข้อมูลของ Canalys การจัดส่งแท็บเล็ตทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 120% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) ถือเป็นครั้งแรกของการเข้าสู่ 5 อันดับแรกของการจัดอันดับการจัดส่งแท็บเล็ตทั่วโลก

 

แสวงหาความเป็นเลิศเพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบในการเป็นผู้นำทางอินเทอร์เน็ต

 

ด้วยแรงผลักดันจากการขยายตัวของระบบนิเวศอัจฉริยะและการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รายได้จากบริการอินเทอร์เน็ตของเสียวหมี่จึงทำสถิติสูงสุดรายไตรมาสอีกครั้ง โดยแตะ 7.8 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) อัตรากำไรขั้นต้นของบริการอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 74.4% เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) จำนวนผู้ใช้งานรายเดือน (“MAU”) ของ MIUI ทั่วโลกและประเทศจีนทำสถิติสูงสุด ข้อมูลในเดือนกันยายน 2566 พบว่า MAU ทั่วโลกของ MIUI สูงถึง 623 ล้าน เพิ่มขึ้น 10.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) ในขณะที่ MAU ของ MIUI ในประเทศจีนสูงถึง 152 ล้าน เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY)

 

กลยุทธ์ระดับโลก (globalization) ของเสียวหมี่ก่อให้เกิดศักยภาพอันยิ่งใหญ่ ในช่วงเวลาดังกล่าว รายได้จากบริการอินเทอร์เน็ตของเสียวหมี่ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 35.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) คิดเป็น 2.3 พันล้านหยวน นับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ โดยคิดเป็น 30.0% ของรายได้จากบริการอินเทอร์เน็ตทั้งหมด รายรับจากการโฆษณาของเสียวหมี่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 อยู่ที่ 5.4 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) สร้างสถิติใหม่รายไตรมาส ด้วยการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน รวมทั้งธุรกิจเกมของเสียวหมี่ก็เติบโตเมื่อ

เทียบกับปีก่อนหน้าเป็นไตรมาสที่ 9 ติดต่อกัน

 

อัปเกรดกลยุทธ์เป็น “คน x รถยนต์ x บ้าน”

 

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของเสียวหมี่ อยู่ที่ 5 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 22.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) โดยกลุ่มบริษัทมุ่งมั่นที่จะดึงดูดและบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 กลุ่มบริษัทมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ถึง 17,563 คน คิดเป็นมากกว่า 53% ของพนักงานทั้งหมด นอกจากนี้ เสียวหมี่ยังคงขยายขีดความสามารถด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทได้รับสิทธิบัตรมากกว่า 35,000 ฉบับทั่วโลก

 

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 เสียวหมี่ได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ Xiaomi HyperOS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ออกแบบและปรับแต่งเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ส่วนบุคคล รถยนต์ และผลิตภัณฑ์บ้านอัจฉริยะในระบบนิเวศอัจฉริยะ เป้าหมายของ Xiaomi HyperOS คือการปรับโครงสร้างใหม่อย่างครอบคลุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ การเชื่อมต่ออัจฉริยะแบบ Cross-Device Intelligent Connectivity ระบบอัจฉริยะเชิงรุก (Proactive Intelligence) การรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจร (End-to-End Security) และแพลตฟอร์มแบบเปิด (Open Platform)

 

ซึ่ง Xiaomi HyperOS นั้นสร้างขึ้นโดยระบบ Xiaomi Vela ที่เสียวหมี่พัฒนาขึ้นเอง พร้อมด้วยการปรับแต่งระบบ Linux อย่างเจาะลึก กลุ่มบริษัทได้ปรับโครงสร้างเกณฑ์วัดพื้นฐาน เช่น การจัดตารางที่มีประสิทธิภาพ การจัดการงาน การจัดการหน่วยความจำ และการจัดการไฟล์

 

ส่งผลให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้นอย่างมากสำหรับการเชื่อมต่ออัจฉริยะข้ามอุปกรณ์ Xiaomi HyperConnect ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่ออัจฉริยะข้ามอุปกรณ์ขั้นสูงช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพสูงระหว่างอุปกรณ์หลายเครื่อง ซึ่งความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทต่อระบบอัจฉริยะเชิงรุก (Proactive Intelligence) ได้ก่อให้เกิด Xiaomi HyperMind ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้อัจฉริยะข้ามอุปกรณ์ และ Xiaomi HyperOS ได้ก้าวล้ำไปอีกขั้นด้วยการใช้เทคโนโลยี AI ขั้นสูงมาสนับสนุนซึ่งทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถขับเคลื่อนได้ด้วย AI ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจร (End-to-End Security) เสียวหมี่ก็ได้พัฒนาขึ้นเองด้วย Trusted Execution Environment (TEE) โดยทำงานบนฮาร์ดแวร์เฉพาะ ทำหน้าที่เป็นรากฐานของระบบย่อยการรักษาความปลอดภัย

 

เสียวหมี่ใช้การเข้ารหัสจากแบบครบวงจรผ่าน TEE สำหรับการส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ ขยายขอบเขตการป้องกันไปยังระบบความปลอดภัยที่เชื่อมต่อถึงกัน นอกจากนี้ Xiaomi HyperOS ยังยึดหลักการของแพลตฟอร์มแบบเปิด (Open Platform) อีกด้วย โดยกลุ่มบริษัทได้เปิดขยายคำเชิญไปยังนักพัฒนาแอปพลิเคชันและฮาร์ดแวร์อัจฉริยะ รวมทั้งให้สิทธิ์การเข้าถึง Xiaomi HyperConnect แบบเปิด และยังได้ประกาศการเปิดซอร์สของ Xiaomi Vela เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับนักพัฒนาทั่วโลกในการพัฒนานวัตกรรม และออกแบบการทำงานร่วมกันที่ดียิ่งขึ้น

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.