รีวิว Juvenile Justice ผู้พิพากษา VS.เด็กเปรต ในมุมชีวิตการทำงานของนางมารร้าย
Juvenile Justice ออริจินัลซีรีส์เกาหลีเรื่องล่าสุดจาก Netflix ว่าด้วยเรื่องราวการขึ้นโรงขึ้นศาล พิจารณาคดีอาชญากรรม ซึ่งโดยปกติแล้วตัวละครที่กระทำความผิดมักจะเป็นผู้ใหญ่วัยบรรลุนิติภาวะ แต่ซีรีส์เรื่องนี้เลือกจะเล่าในมุมจำกัดให้กระชับลงมา ว่าถ้าหากอาชญากรเหล่านี้เป็นเพียงเยาวชนล่ะ ผู้พิพากษาคดีจะพลิกเกมและเอาผิดพวกเขาอย่างไร
- เรื่องย่อ Juvenile Justice หญิงเหล็กศาลเยาวชน ซีรีส์เกาหลีแนวกฏหมาย
คงต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ชมในบ้านเรา นิยมซีรีส์จากแดนกิมจิกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเมื่อมีซีรีส์เรื่องไหนที่ถูกส่งตรงลงสตรีมมิ่งปั๊บ ถ้าหากเรื่องราวนั้นน่าสนใจจนกลายเป็นกระแสปากต่อปาก ไม่นานซีรีส์เรื่องนั้นๆก็จะติดอันดับซีรีส์ยอดนิยมทันที เช่นเดียวกับ Juvenile Justice หรือ หญิงเหล็กศาลเยาวชน นำแสดงโดย คิมฮเยซู และ คิมมูยอล
“เพราะฉันเกลียดอาชญากรเด็ก” คือคำกล่าวชวนสะดุ้ง หลังจากที่ชิมอึนซอก (คิมฮเยซู) ผู้พิพากษามาดขรึม นิ่ง แต่พร้อมฟาดด้วยหลักความตรงไปตรงมา ซึ่งเธอยึดถือมาตลอดอาชีพการทำงานในสายงานนิติศาสตร์ หลังจากที่เธอย้ายมาทำงานศาลเยาวชนในเขตยอนฮวา ด้วยความเป็นคนชัดเจนและเฮี้ยบทำให้ชื่อเสียงของเธอได้รับการกล่าวถึง จนกระทั่งไปถึงนินทาของเหล่าผู้ร่วมงาน
อย่างไรก็ตามที่ศาลเยาวชนเขตฮยอนวา ยังมีผู้พิพากษาหนุ่มชาแทจู (คิมมูยอล) ชายผู้โอบอ้อมอารีและเป็นที่รักของบรรดาเยาวชนที่ถูกตัดสินพิจารณาคดี ให้อยู่ภายใต้การดูแลปรับปรุงพฤติกรรมจนกว่าจะครบวาระ และคังวอนจุน (อีซองมิน) หัวหน้าผู้พิพากษาคดีอาญาที่กำลังจะเปลี่ยนเส้นทางการทำงานด้วยการลงสมัครเล่นการเมือง เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเยาวชน ตามเจตนารมณ์ที่ตัวเองเชื่อว่าการสร้างบทลงโทษที่รุนแรงนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่การดูแล ทำความเข้าใจและเอาใจใส่เยาวชนให้ถูกที่ถูกเวลาเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่า
ซีรีส์ความยาว 10 ตอนในซีซั่นแรกนี้ ถ้าจะให้แยกเป็นตอนย่อยๆจะอยู่ที่ประมาณ 1 คดีต่อ 1-2 ตอน โดยมีเส้นเรื่องหลักเป็นความสัมพันธ์ของตัวละครในที่ทำงาน อุปนิสัย พื้นเพของตัวละคร และสไตล์การทำงานของพวกเขา โดยคดีแรกที่เรียกได้ว่าเปิดเรื่องมาอย่างใหญ่โต สะเทือนขวัญ และพยายามจะส่งสารต่อคนดูว่า Juvenile Justice ไม่ใช่ซีรีส์โอนอ่อน ผ่อนปรนและพยายามประนีประนอมกับผู้ชมนัก
คดีฆาตกรรมเด็กประถมยอนฮวา คือเหตุการณ์สะเทือนขวัญเปิดเรื่อง เมื่อแบคซองอู เด็กชายวัย 13 ปีที่อ้างตัวว่าเขามีอาการทางจิตเภท ทำให้ตัวเองเกิดพลั้งมือฆ่าหั่นศพเด็กชายวัย 9 ปีและทิ้งชิ้นส่วนของเหยื่อเอาไว้บนดาดฟ้า และสิ่งที่น่าขนลุกขนพองกว่าคือการที่แบคซองอูได้กล่าวว่า “ก็เพราะผมยังอายุไม่ถึง 14 ปียังไงก็ไม่ติดคุก” ได้สะท้อนถึงข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้เหล่าเยาวชนมองว่าพวกเขาจะกระทำต่อผู้อื่นอย่างไรก็ได้ โดยไม่มีท่าทีของการสำนึกผิด
งานและชีวิตส่วนตัว
คดีคุ้มครองเยาวชนและคดีอาญาเยาวชนเป็นงานหลักของบรรดาตัวละคร เราจะได้เห็นว่าชิมอึนซอก ชาแทจู และคังวอนจุนต่างก็มีงานกองพะเนินเทินทึกเต็มโต๊ะ จนเรียกได้ว่า ตัวละครเหล่านี้มีโอกาสโดนกองเอกสารบนโต๊ะทับตายมากกว่าจะเกิดอุบัติเหตุในชีวิตด้วยซ้ำไป ยังไม่รวมไปถึงคดีอีกมากมายที่ชาแทจูบอกกับชิมอึนซอกว่า ในแต่ละเดือนนั้นมีคดีความที่พวกเขาต้องอ่านไม่ต่ำกว่า 300 คดี!
ปริมาณงานมากมายขนาดนี้ เราจึงได้เห็นว่า “คนทำงาน” ในซีรีส์มีสภาพหลับฟุบคากองสำนวนคดี ทำงานจนท้องฟ้ามืดสนิท กว่าจะได้ทานข้าว กลับบ้าน จนเรียกได้ว่าขนาดจบเรื่องราวในซีซั่นแรก เรายังไม่ได้เห็นเลยว่างานอดิเรกของชิมอึนซอก ชาแทจูนั้นคืออะไร พวกเขามีวันหยุดพักผ่อนไหม เพราะตลอดเวลาเราเห็นพวกเขาอยู่กับ งาน งาน และงาน!
ระหว่างที่เราเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า งานผู้พิพากษาดูเป็นงานที่เครียด แถมสถานการณ์ที่ตัวละครอย่างชิมอึนซอกต้องประสบพบพานนั้นเรียกได้ว่ามีแต่เรื่องสติแตก (ไม่แพ้กับบรรดาตัวละครใน The Penthouse เลยทีเดียวเชียว) ตัวละครนี้จะแบกความอึด ทนทานได้นานแค่ไหนกันเชียว แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้วซีรีส์ก็ไม่หลงลืมที่จะทำให้ผู้ชมได้เห็นว่า สุดท้ายแล้วชิมอินซอกก็ไม่ใช่ยอดมนุษย์จากที่ไหน แต่เธอเจ็บได้และเกือบตายเป็นเช่นกัน ใครบอกงานหนักไม่ฆ่าคน Juvenile Justice ได้เผยแง่มุมนี้ให้กับคนดูเห็นเช่นกันว่า Work-Life Balance เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในชีวิตมนุษย์คนทำงานที่ทุกคนพึงมี
นางมารร้ายผู้แสนดี
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือตัวละครของของชิมอึนซอก ที่คนดูทุกคนคงไม่พลาดที่จะตั้งคำถามว่า ทำไมเธอถึงเกลียดเหล่าอาชญากรเด็กเข้าไส้ ถึงขนาดตาเป็นสัปปะรดว่าต่อให้พวกเขาชำระล้างความผิดจากกระบวนการยุติธรรมมานานแค่ไหน ความชั่วร้ายในตัวของพวกเขาเหล่านี้ก็ยังไม่จางหายไปไหน แต่รอวันกลับมาสำแดงเดชอีกครั้ง
แม้จะดูว่าตัวละครอย่างชิมอึนซอกเป็นเหมือนตัวละครที่ไม่เชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์สักเท่าไหร่ แต่ในทุกโมเมนต์ที่เธอพยายามจะคลี่คลายคดีและหาคำตอบตัดสินที่ถูกต้องให้กับจำเลยและเหยื่อ ในแววตาและการกระทำของเธอนั้น คือความพยายามที่จะมอบความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง จนเราอยากจะกล่าวว่าต่อให้เธอเป็นคนที่ดูเย็นชาไร้หัวใจ แต่ลึกๆแล้วชิมอึนซอกคือคนที่ยืนหยัดในอุดมการณ์และหัวใจของเธอมันน่ากราบ แม้ว่าคนอื่นๆจะมองเห็นเธอเป็นแค่นางมารร้ายก็ตาม
ในโลกของการทำงานคนที่ตรงไปตรงมา สะท้อนปัญหา และทำให้เห็นจุดอ่อนของระบบ มักตกเป็นเป้าโจมตี จนถูกเกลียดชังจากบรรดาเพื่อนร่วมงาน ไม่มีมารยาท ข้ามหัวคนอื่น พูดจาไม่ไว้หน้าผู้อาวุโส คิดว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน คือคำด่าที่ชิมอึนซอกโดนตัวละครอื่นๆโจมตีตลอดทั้งเรื่อง ในทุกครั้งที่เธอพยายามจะทำให้เห็นช่องว่างของระบบกฎหมายเยาวชน หรือกระทั่งการทำงานของคนรอบตัวที่ดูน่ากังขา แต่ท้ายที่สุดแล้วการยืนหยัดในหลักการและความถูกต้องของตัวละครนี้ สุดท้ายแล้วเวลาจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ให้คนรอบตัวเห็นว่า สิ่งที่เธอเป็นและสิ่งที่เธอทำนั้นคือความถูกต้องที่แท้จริง
ท้ายที่สุดแล้วคำกล่าวที่ว่า “ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์” นั้นก็ดูเป็นสิ่งที่ยังใช้ในทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นวงการกฎหมาย คดีความ ไปจนถึงการทำงานในทุกๆวงการเลยก็ว่าได้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.