เปิดเงื่อนไข “โครงการคุณสู้ เราช่วย” สางหนี้ครัวเรือนกว่า 2 ล้านบัญชี คาดช่วยลดNPLได้กว่า 10%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวภายหลังเปิดตัว “โครงการคุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non Banks) ว่า หนี้ครัวเรือนครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ทุกภาคส่วนจึงได้ร่วมกันผลักดันมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม หลังจากที่วันนี้(11ธ.ค.67) ครม.ได้ผ่านความเห็นชอบมาตรการดังกล่าวแล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้น
1.1 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
(1) ลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น
(2) พักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขได้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ภายใต้มาตรการ
ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถชำระมากกว่าค่างวดขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้ เพื่อตัดเงินต้นเพิ่มและปิดจบหนี้ได้ไวขึ้น
1.2 คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินตามประเภทสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ดังนี้
- สินเชื่อบ้าน / บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท
- สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
- กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด
(2) เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567
(3) มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(3.1) เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
(3.2) เป็นหนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน แต่เคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565
1.3 เงื่อนไขของการเข้าร่วมมาตรการ
(1) ลูกหนี้ไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นกรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เจ้าหนี้สามารถให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม
(2) ลูกหนี้รับทราบว่า จะมีการรายงานข้อมูลต่อเครดิตบูโร (NCB) ถึงการเข้าร่วมมาตรการ
(3) หากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระค่างวดขั้นต่ำได้ตามที่มาตรการกำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ได้ เช่น ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน ลูกหนี้จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้ในระหว่างที่เข้ามาตรการ
(4) หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมในการเข้าร่วมมาตรการและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง หรือไม่เกิน 50,00 บาท ลูกหนี้ต้องเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชำระหนี้บ้างส่วน เบื้องต้นลูกหนี้ต้องชำระหนี้ 10% ของ 50,00 บาท โดยสามารถเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 1 บัญชี
1.1 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลูกหนี้จะชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถจ่ายและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
1.2 คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
(2) มีภาระหนี้ต่อบัญชี ไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ (สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี)
ในระยะต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-Bank อื่น ๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมใน วงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้ได้มากขึ้น
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือไม่ได้ลดหนี้ทันที แต่เราลดภาระการชำระหนี้ โดยมุ่งไปที่การพักดอกเบี้ยไว้ก่อน สำหรับคนที่มีความพร้อมและมีวินัยการเงิน โดยเริ่มจากการลดภาระการผ่อนชำะค่างวดระยะเวลา 3 ปี เช่น ปีที่ 1 ลดดอกเบี้ย 50% ปีต่อไปลด 70% และชำระค่างวด 90% ของค่างวดเดิมตามลำดับตามค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้น เพื่อให้ลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้นและหากลูกหนี้ปฎิบัติตามเงื่อนไขเคร่งคัดดอกเบี้ยที่พักไว้ 3 ปี จะได้รับการยกเว้นทั้งหมด
ทั้งนี้ มียอดหนี้ที่เข้าเกณฑ์โครงการประมาณ 2 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 8.9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6-7 แสนบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ราว 4.5 แสนล้านบาท และหนี้ของธนาคารพาณิชย์ 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ มาตรการแก้หนี้ดังกล่าว จะช่วยเหลือไปถึงลูกหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐด้วย โดยใช้หลักการเดียวกับธนาคารพาณิชย์ แหล่งเงินมาจาก ม.28 เพื่อชดเชยให้ SFIs 6 แห่ง รวมทั้ง มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ของ Non – banks โดยขยายการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมไปยังลูกหนี้ของ Non - banks เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเปราะบางและมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยสูง
นายพิชัย กล่าวต่อว่า โครงการนี้ทำให้ทุกคนมีความหวัง แม้เศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ในสภาวะซบเซามากกว่า 10 ปี และยังประสบปัญหาเรื่องโควิด ทำให้เศรษฐกิจเติบโตไม่ได้เท่าที่ควร รวมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ขณะนี้ จีดีพีไตรมาส 3/2567 เริ่มเห็นแสงสว่าง จีดีพีค่อยๆปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3% แล้ว และลุ้นว่าจีดีพีไตรมาส4/2567 จะเห็นใกล้ๆ 4% หรือบวกลบ รวมแล้วทั้งปี 2567 น่าจะเห็นที่ 2.8% บวกลบ เมื่อเทียบกับ 1.9% ในปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้น 40-50% ดังนั้นจึงเห็นว่าปี 2568 จีดีพีไทยน่าจะเพิ่มขึ้นได้อีก แต่แน่นอนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมันต้องมีหลักฐาน มีมูลเหตุ คือ มีการลงทุน การใช้จ่ายเงิน
การพยากรณ์ไม่ง่าย แต่ถ้าถามผม ปีหน้าจีดีพีผมฝันไปไกลถึง 3.5% แต่จะขยับเป็น 3.5% หรือน้อยกว่านี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า เศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้าต่อไปได้ แต่คนในประเทศซึ่งมีปัญหาเยอะ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้คือ กลุ่มครัวเรือน และเอสเอ็มอี เป็นกลุ่มพื้นฐานของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ดังนั้นสิ่งแรกคือ การแก้ปัญหาหนี้ที่มีอยู่เดิมต้องแก้ให้นิ่งก่อน ให้หนี้ที่มีอยู่เท่าเดิมยังคงเท่าเดิมแต่ภาระการจ่ายลดลง เมื่อหนี้เขาสามารถกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติได้ เขาจะมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ เมื่อหนี้ในระบบลดลง รัฐบาลก็มีโจทย์การช่วยเหลือภาคสอง ในการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เรามั่นใจว่าจะเพิ่มขึ้น จากภาคเศรษฐกิจหลายตัว เช่น การลงทุนในประเทศและต่างประเทศ เป็นจังหวะดีที่เราจะใส่เม็ดเงิน เข้าไป น่าจะเป็นเฟสที่2
เฟส 2 จะเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อที่อยู่ตามชนบทมากกว่า ซึ่งเราจะเข้าดูตรงนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลข แต่ผมมีตัวเลขในใจจะอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านธนาคารรัฐ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท จะเป็นความฝันของรัฐ
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ผ่านการช่วยเหลือจากสมาคมธนาคาร คลังและสถาบันการเงินอื่น โดยใช้เม็ดเงินในการช่วย เมื่อช่วงเช้า ครม.ได้ผ่านวาระ FIDF ขอลดลงแค่ครึ่งเดียว โดยมีหลักการช่วยประมาณ 3 ปี แต่อย่างไรก็ตามจะทดลองทำเป็นปีๆไป ในส่วนของกระทรวงการคลังวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 1 ปี ไม่เกิน 3.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะมีส่วนที่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือในสัดส่วนใกล้เคียงกัน หรือเท่ากัน หรือเงินช่วยเหลือถึงปีละ 7.8 พันล้านบาท รวม 3 ปี 2 แสนกว่าล้าน
ดังนั้นเมื่อโครงการเสร็จสิ้นไปแล้ว เศรษฐกิจดีขึ้น เราจะเห็นเงินต้นลดลง จะเห็นเอ็นพีแอลในระบบลดลง 10% กว่าๆ จากปัจจุบันอยู่ 16 ล้านล้านบาท โดยเป็นหนี้เอ็นพีแอลกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ธนาคารพาณิชย์อาจต้องรอ 12 เดือนบวกลบ จะเห็นยอดเอ็นพีแอลลดลง ซึ่งยอมรับว่าตนอยากเห็นยอดเอ็นพีแอลต่ำกว่า 80%
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.