คลังขอ 3 เดือนสังคยนา “กฎหมายฉ้อโกง” ชงเพิ่มโทษหนัก-คดีไม่หมดอายุความ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายหลังสั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งไปพิจารณารายละเอียดการยกร่าง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 สืบเนื่องจากกรณี The ICON Group เพื่อแก้ไขปัญหาธุรกิจขายตรงแบบแชร์ลูกโซ่ ซึ่งล่าสุด สศค.ได้รายงานถึงรายละเอียดการยกร่างพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ เบื้องต้นให้รับทราบแล้ว และได้สั่งการเพิ่มเติมในส่วนที่ยังต้องแก้ไข และปรับปรุงเพิ่มเติมเให้ครอบคลุมต่อไป 

 

       ซึ่งการยกร่างพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ในครั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีการใช้งานมานานถึง 40 ปี จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้อง และเท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น

      ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้เตรียมข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายในหลายประเด็น โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ได้แก่

 

      ประเด็นแรก คือ เสนอเปลี่ยนผู้ถือกฎหมาย จากปัจจุบัน คือ สศค. กระทรวงการคลัง แก้ให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ถือกฎหมาย เพราะกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานเชิงนโยบาย เป็นผู้ร่างกฎหมายในปี 2527 แต่ไม่ได้เป็นหน่วยงานปฎิบัติ

 

     ประเด็นที่สอง การเอาผิดไปถึงแม่ข่ายระดับกลาง และระดับล่าง ซึ่งกฎหมายปัจจุบันไม่เอื้อในการเอาผิด หรือเอาผิดไปถึงได้ค่อนข้างยาก รวมถึงการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น ที่ปัจจุบันมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 30 ปี และสะท้อนสัดส่วนกับความเสียหาย เพราะปัจจุบันมูลค่าความเสียหายสูงถึงระดับพันล้านบาทเกือบทุกคดีความ 

 

     ประเด็นที่สาม เรื่องของอายุความ เนื่องจากกฎหมายปัจจุบัน หากผู้ถูกกล่าวโทษหลบหนีจนขาดอายุความ คดีความเป็นอันขาดด้วย จะแก้ไขให้อายุความหยุดลงกรณีผู้ต้องหาหลบหนี จะช่วยป้องกันการหลบหนีคดี คดีความจะได้ไม่ขาดจะได้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด กฎหมายใหม่นี้ทำให้คดีลักษณะนี้อายุความไม่สะดุดหยุดลง เพราะว่าผู้ต้องหาหลบหนี

หากเกิดกรณี ผู้ต้องหาหลบหนีคดี จนคดีหมดอายุความ คดีความก็จะไม่สะดุดหยุดลงหรือต้องสิ้นสุดเหมือนที่ผ่านมา แต่อายุความจะอยู่ไปเรื่อยๆ ก็แปลว่า เขาจะกลับมาไม่ได้

 

      อย่างไรก็ ทั้งหมดนี้ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม รวมไปถึงคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะว่า มีกรอบใหญ่ๆ หลายเรื่องที่กระทรวงการคลังจะเขียนรายละเอียด หรือตัวเลขเองไม่ได้ ต้องผ่านการหารือ และเห็นชอบร่วมกัน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพยามยกร่างพ.ร.ก.ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

เราสั่งการไปให้สศค.ยกร่างพ.ร.ก. ให้ทันเหตุการณ์มากขึ้น เพราะในหลายประเด็นยังไม่ครอบคลุม ไม่ทันสถานการณ์ ปัจจุบันคดีเหล่านี้มีการพัฒนาไปในหลายรูปแบบ ตอนนี้ก็มีในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องสังคยนากฎหมายใหม่ให้ทันการณ์ ส่วนต้องเสร็จเมื่อไรยังไม่ได้กำหนดเวลา โดยปกติใช้เวลาไม่นาน โดยจะเร่งให้เสร็จภายใน 3 เดือน หากยกร่างเสร็จแล้ว ขั้นตอนจากนี้คลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

      ส่วนที่มีข้อเสนอให้ยกเลิกพ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 แล้วยกระดับเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อให้เกิดความชัดเจน มีความเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นๆ และให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงเป้ากว่านี้ นายจุลพันธ์ ระบุว่า ขณะนี้จะยังไม่ยกเลิกการใช้พ.ร.ก. เพราะโดยหลักเวลาทำอะไรที่มันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพกว้าง กลไกลของกฎหมายก็อนุญาตให้ออกเป็นพ.ร.ก. ดังนั้นตอนนี้จึงไม่ได้ตัดสินใจไปถึงขนาดนั้น โดยมองว่า การออกพ.ร.ก.มีความรวดเร็วมากกว่าการออกกฎหมายเป็นพ.ร.บ. 


 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.