KTAM ปิดขายกอง KTPCRED-UI ก่อนจบIPO เร่งขยายไซส์เปิดขาย 6-13 มิ.ย.นี้

     นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้เปิดเสนอขายกองทุนที่เน้นลงทุนใน Private Credit หรือสินเชื่อที่ให้กู้โดยผู้ให้กู้ที่มิใช่ธนาคาร จำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดเคแทม U.S. Private Credit Unhedged ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KTPCRED-UI) และกองทุนเปิดเคแทม U.S. Private Credit ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KTPCREDH-UI) โดยเสนอขายครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 27 พ.ค. – 12 มิ.ย. 67 นั้น 

     โดยทั้ง 2 กองทุนนี้ นักลงทุนต่างได้ให้ความสนใจอย่างล้นหลามโดยเฉพาะกอง KTPCRED-UI จึงทำให้กองทุนนี้ปิดจองซื้อในช่วง IPO ก่อนกำหนดด้วยจำนวนกว่า 2,056 ล้านบาท และเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง จึงได้จดทะเบียนขยายขนาดกองทุนเป็น 5,000 ล้านบาท และกำหนดการเปิดรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนล่วงหน้าในช่วงวันที่ 6-13 มิ.ย. 2567 ภายหลังเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกเพิ่มเติมสำหรับผู้ลงทุนประเภทผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท ผ่าน บลจ.กรุงไทย และบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชนทั้งนี้ กองทุนจะทำรายการซื้อขายหน่วยลงทุนในวันที่ 1 ก.ค. 2567 นี้

     สำหรับกองทุน KTPCREDH-UI ผู้ลงทุนยังคงสามารถลงทุนได้ตามระยะเวลา IPO ที่กำหนดไว้เดิม ตั้งแต่วันนี้ -12 มิ.ย. 2567 ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท ผ่าน บลจ.กรุงไทย และบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เช่นกัน

     กองทุน KTPCRED-UI และ KTPCREDH-UI (ความเสี่ยงระดับ 8+) เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน โดยกองทุน KTPCRED-UI ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ ส่วน KTPCREDH-UI มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ต้องรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนจากการลงทุน

     โดยทั้ง 2 กองทุน เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Ares Strategic Income Offshore Access Fund (กองทุนหลัก) ในหน่วยลงทุนชนิด Class I UD เพียงกองเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนหลักมีเป้าหมายที่จะลงทุนในกองทุน Ares Strategic Income Fund (ASIF) (กองทุนอ้างอิง) อย่างน้อย 95% ของทรัพย์สินของกองทุน ซึ่ง ASIF นับว่าเป็นผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ผ่านมาทุกวัฏจักรของตลาด อีกทั้งยังมีกลยุทธ์ในการสร้างผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงที่โดดเด่น (Risk-adjusted Return) โดยมุ่งเน้นการสร้างกระแสรายได้ระดับสูงและเพิ่มการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตโฟลิโอ ผ่านแพลตฟอร์มเครดิตชั้นนำของ Ares ที่เน้นการทำ Direct Lending เป็นหลัก 

     "หนึ่งในประเภทของ Private Credit ที่เป็นสัดส่วนหลักของทั้ง 2 กองทุนนี้ ก็คือ Direct Lending หรือที่เรียกว่าการปล่อยกู้โดยตรง ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ที่มาขอกู้จะมีทั้งขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็ก โดยส่วนใหญ่จะตอบสนองตามวัตถุประสงค์เฉพาะของผู้กู้แต่ละราย ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยก็มักจะสูงกว่าสินเชื่อธนาคารทั่วไป และคิดอัตราดอกเบี้ยแบบอัตราลอยตัว(floating rate)ดังนั้นจึงลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจากข้อมูลในอดีตในช่วงที่ตลาดในภาพรวมปรับฐานนั้น Private Credit ถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่แสดงถึงผลขาดทุนสูงสุด (Max Drawdown) ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ(ที่มา: Ares management, ข้อมูล ณ 31 ม.ค.2567)"นางชวินดา กล่าว

     ปัจจัยความเสี่ยงของกองทุน KTPCRED-UI และ KTPCREDH-UI ที่สำคัญ: ความเสี่ยงทางตลาด ความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของการลงทุน ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงเรื่องคู่สัญญาในการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงของประเทศที่ลงทุน ความเสี่ยงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของหลักทรัพย์ ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงจากข้อจำกัดการนำเงินลงทุนกลับประเทศ และความเสี่ยงที่เกิดจากการย้ายการลงทุนไปกองทุนอื่น

     คำเตือน กองทุนนี้มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ กองทุน KTPCRED-UI ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ / ส่วนกองทุน KTPCREDH-UI มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงโดยดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ในกรณีที่กองทุนไม่ได้มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ / การลงทุนในหน่วยลงทุนกองที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน มีความแตกต่างจากการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป แม้ว่าจะเคยมีประสบการณ์ในการลงทุนในหน่วยลงทุนอื่นมาก่อน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจถึงลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนความเสี่ยง เงื่อนไขกองทุน และควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้แนะนำการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน / กองทุนนี้ไม่ถูกจำกัดความเสี่ยงด้านการลงทุนเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป และมีการกระจุกตัวในผู้ออกตราสาร จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับผลขาดทุนระดับสูงได้เท่านั้น และ กองทุนมีค่าปรับกรณีขายคืนหน่วยลงทุนก่อนกำหนด (Exit Fee) สำหรับการถือครองหน่วยลงทุนต่ำกว่า 12 เดือน อยู่ที่ 2% ของมูลค่าซื้อขาย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.