TDRI แนะรัฐหั่นงบไม่จำเป็นทำ "Digital Wallet" แทนการกู้เงินในอนาคตมาใช้

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย กรณีที่รัฐบาลเตรียมปรับแผนการคลังระยะปานกลาง โดยในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ในรายละเอียดจะมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 1.12 แสนล้านบาท และจะจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้จะเต็มเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท เนื่องจากมองว่า เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงมาก ในขณะที่เศรษฐกิจโตชะลอกว่าศักยภาพไม่มากนัก วิธีการกู้เงินเพิ่มเติมก็เป็นการใช้วงเงินในอนาคต เพื่อโครงการที่อาจจะไม่จำเป็นในตอนนี้ จึงแลกมาด้วยหนี้สาธารณะที่สูงมากขึ้น และวงเงินกู้ในอนาคตจะน้อยลง 

 

"ความเห็นส่วนตัวไม่ค่อยชอบวิธีการนี้เท่าใดนัก เพราะว่าเป็นการใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายมากไป หากเทียบกับวิธีการที่เหมาะสมกว่า เช่น การลดงบประมาณส่วนอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นลงเสียบ้าง โดยงบประมาณที่ใช้กันในปัจจุบันน่าจะมีส่วนที่มีประสิทธิภาพที่จำกัดพอสมควร ถ้าเอาแปลงเป็นโครงการนี้ก็จะไม่จำเป็นต้องกู้เงินในอนาคตมาใช้ ผลเสียทางด้านการคลังจะน้อยกว่า" ดร.นณริฏ กล่าว

 

ส่วนคำถามที่ว่า วิธีการนี้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า เป็นการก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม ทำให้ฐานะการคลังมีปัญหา และจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ หรือระดับเครดิตของไทยหรือไม่นั้น ภาควิชาการมีการประมาณการผลกระทบของโครงการ Digital Wallet ซึ่งออกมาที่ตัวคูณประมาณ 0.4-0.9 บาท นั่นหมายความว่า ลงเงินไป 100 บาท แต่ได้ผลจริงๆ จังๆ อาจจะแค่ 40-90 บาทเท่านั้น เรียกได้ว่า เป็นวิธีการที่ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับประเด็นทางด้านการคลัง โครงการนี้ถ้าทำตามแผนที่ภาครัฐวางไว้จะทำให้หนี้สาธารณะขยับเพิ่มจาก 62% มาเป็น 65% ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% แต่ก็ทำให้ช่องว่าง หรือส่วนต่างที่จะกู้จนเต็มเพดานมันลดลงมาก นั่นหมายถึงว่า ปัญหามันไม่ใช่อยู่ที่ฐานะการคลังมากเท่าไร แต่เป็นปัญหาการใช้เงินแบบไม่มีประสิทธิภาพ และสุรุ่ยสุร่าย จนเวลาที่จำเป็นจริงๆ อาจจะไม่มีวงเงินมากพอให้ใช้ ซึ่งตอนนั้นแหละจะเป็นปัญหาทางการคลัง

อย่างไรก็ตาม ดร.นณริฏ ยังประเมินด้วยว่า โครงการ Digital Wallet อาจจะไม่เกิดขึ้น หรือ เกิดขึ้นอย่างล่าช้า หรือ เกิดขึ้นในขนาดที่เล็กลง เพราะว่ามีทั้งเงื่อนไขประสิทธิภาพทางการใช้เงินและเหตุผลความจำเป็นของ ประชาชนที่เตือนไว้ และมีเรื่องการจัดการทางเทคนิค คือ การสร้าง App ใหม่ การให้ธุรกิจห้างร้าน ประชาชน และภาคการเงินการธนาคารเข้ามาร่วมด้วยมันไม่ง่าย ต้องใช้ต้นทุนสูง และต้องใช้เวลา แหล่งที่มาของเงินก็ยังไม่สะดวกนัก เช่น กู้เงินกลางปีสำหรับปีนี้ 1.12 แสนล้าน แต่แผนที่จะใช้เงินมากกว่าน่าจะราวๆ 1.7 แสนล้าน แปลว่าต้องหาแหล่งเงินในปี 2567 อีกกว่า 5 แสนล้านที่ไม่รู้จะเอาเงินมาจากไหน เช่นเดียวกัน การกู้เงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ก็ต้องดูว่า ธกส. ทำได้หรือไม่ เป็นไปตามภารกิจตามกฎหมายหรือไม่

 

"ณ ตอนนี้ ในฉากทัศน์เศรษฐกิจที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ โครงการนี้อาจจะเกิดอย่างล่าช้าไม่ทันปีนี้ ทำให้ประมาณการเศรษฐกิจจะลดลงจากราวๆ 3% เหลือเพียง 2.5% แต่ถ้าสามารถดำเนินการได้จริง ก็คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาใกล้ๆ กับ 3%" ดร.นณริฏ กล่าว

 

ส่วนกรณี ที่รัฐบาลมีแผนจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านบาท เพื่อมาโครงการDigital Wallet จะมาจากแหล่งใดนั้น ประมาณการรายได้เพิ่มเติมมักจะเกิดขึ้นได้ใน 2 รูปแบบ คือ มีการจัดเก็บฐานภาษีประเภทใหม่ๆ ที่ทำให้รายได้ภาครัฐมากขึ้น หรือ การคาดหวังเอาจากนโยบายเศรษฐกิจว่า จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจโต ประชาชนและธุรกิจมีรายได้มากขึ้น และเสียภาษีมากขึ้น ตามที่เข้าใจ ปัจจุบันภาครัฐมีการจัดก็บภาษีแบบใหม่อยู่บ้าง เช่น การกำหนดให้รายได้ที่มาจากการลงทุนต่างประเทศจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งน่าจะทำให้มีรายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นบางส่วน และจากการสัมภาษณ์จากภาครัฐเหมือนว่า ภาครัฐมั่นใจว่าจะเกิดพายุหมุนจากโครงการซึ่งหวังว่าจะทำให้รายได้ของภาษีเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่ามันเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.