กรมสรรพสามิต ปรับบทบาทเน้น ESG เดินหน้าไทยสู่ความยั่งยืน

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยในงานสัมนา SUSTAINABILITY FORUM 2024 จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ “New Excise Tax to move Thailand to low carbon economy” ว่า บทบาทของกรมสรรพสามิตในโลกยุคใหม่ที่พยายามสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทย จะเน้นส่งเสริมในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล (ESG) 

“กรมสรรพสามิต ปรับบทบาทตัวเอง และประกาศเป็นกรม ESG กรมแรกในหน่วยราชการ โดยกรมสรรพสามิต ไม่ใช่แค่เก็บภาษีบาปอย่างเดียว แต่จะมุ่งเน้นในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล (ESG) ด้วย” ดร.เอกนิติ กล่าว 

ทั้งนี้ จากแรงกดดันของนานาประเทศ โดยประเทศไทยมีการผลิตสินค้าและบริการ เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผลิตในประเทศไทย ต่อไปจะต้องมีการวัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  และจะต้องมีมาตรฐานต่างๆ ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการของบริษัทแม่ 

ประกอบกับกติกาโลกเริ่มเปลี่ยน โดยเฉพาะในยุโรป มีการเก็บภาษีคาร์บอนกับธุรกิจในประเทศ คนในประเทศก็จะเริ่มย้ายไปสู่นอกประเทศ และส่งออก จึงเกิด CBAM หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ขณะที่ในสหรัฐ กำลังทำ Clean Competition Act เลือกสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงๆ เช่น เหล็ก อลูมิเนียม ดังนั้นทั้งแรงกดดันของนานาประเทศ และกติกาโลกที่เริ่มเปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่ไทยจะต้องคว้าโอกาสจากวิกฤตนี้ 

สำหรับประเทศไทย ได้ไปประชุมเกี่ยวกับพันธกรณีของประเทศต่างๆ ซึ่งมีพันธกรณีระหว่างประเทศว่า ไทยจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2030 และในปี 2050 จะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน จากนั้นในปี 2065 ประกาศเป็น Net Zero 

ในส่วนของบทบาทของกรมสรรพสามิตในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยรถยนต์ ค่อยๆ ปรับมาเก็บภาษีตามคาร์บอนไดออกไซด์ จากในอดีตเก็บภาษีตามซีซี ซึ่งอัตราภาษีในปัจจุบัน ปล่อย CO2 มากกว่า 200 กรัมต่อกิโลเมตร เก็บภาษี 35%, ปล่อย CO2 151-200 กรัมต่อกิโลเมตร เก็บภาษี 30%, ปล่อย CO2 ต่ำกว่า 150 กรัมต่อกิโลเมตร เก็บภาษี 25% 

จากนั้นในปี 2026 ปล่อย CO2 100-120 กรัมต่อกิโลเมตร เก็บภาษี 20% และปล่อย CO2 ต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร เก็บภาษี 13% และในปี 2030 ในภาพใหญ่ปล่อย CO2 ต่ำ จะเก็บภาษีถูก และปล่อย CO2 สูง จะเก็บภาษีแพง 

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังโปรโมทให้เกิดอุตสาหกรรมอีวีในประเทศ ค่ายรถยนต์ต่างๆ จึงมาตั้งฐานการผลิตในไทย เนื่องจากลดภาษีสรรพสามิตให้จาก 8% เหลือ 2% แต่มีเงื่อนไขว่าลดภาษีสรรพสามิตให้ ได้เงินอุดหนุนด้วย ต้องมาผลิตชดเชยในประเทศไทย เพื่อดึงฐานการผลิตให้อยู่ในประเทศไทย จึงเห็นค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มมาลงทุนในประเทศไทย 

ขณะเดียวกัน 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่ที่ภาคการขนส่ง และพลังงาน โดยมีการเก็บภาษีสรรพสามิตเบนซิน 6.50 บาท/ลิตร ดีเซล 6.44 บาท/ลิตร ปัจจุบันลดไป 2.50 บาท/ลิตร จากการศึกษาประเทศต่างๆ Carbon Tax เช่น ญี่ปุ่น มีการเก็บภาษีสรรพสามิตและผูกสินค้านั้นกับ CO2 

ทั้งนี้ ระบบทั้งโลก มีกลไกของภาคบังคับกับกลไกของภาคสมัครใจ โดยประเทศใดที่มีกลไกภาคบังคับ และมีกลไกราคาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประเทศนั้นสามารถลด CO2 ได้มากกว่าประเทศที่ไม่มี ไม่ต่ำกว่า 5% 

โดยประเทศทางยุโรป กลไกราคามีภาคบังคับ ซึ่งการบังคับมี 2 วิธี คือ 1.การบังคับเชิงปริมาณ เช่น บังคับว่าอุตสาหกรรมนี้ห้ามปล่อย CO2 เกินเท่าไร ถ้าต่ำกว่าที่กำหนดสามารถวัดและนำไปขายได้ในตลาด ถ้าสูงกว่าที่กำหนดต้องไปซื้อในตลาดมาชดเชย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีตรงนี้ แต่ พ.ร.บ. โลกร้อน กำลังให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถบังคับในส่วนนี้ได้  

2.การไม่กำหนดปริมาณ แต่กำหนดราคาคาร์บอนไปเลยว่าอยู่ที่เท่าไร (Carbon Tax) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีตรงนี้เช่นกัน ซึ่งการเก็บ Carbon Tax ทั่วโลก มี 2 รูปแบบ คือ เก็บภาษีบนสินค้า และเก็บภาษีบนกระบวนการ 

สำหรับบทบาทของกรมสรรพสามิตในด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษามาตรฐานโลกของเวิดล์แบงก์เกี่ยวกับ Carbon Tax Guide โดยได้ศึกษาไว้ 2 รูปแบบ คือ 1.การเก็บระดับ Corporate และ 2.การเก็บระดับ Product 

“กรมสรรพสามิต กำลังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบว่าจะเก็บอย่างไร และดูอะไรบ้าง ซึ่งจะเก็บอะไรก็แล้วแต่ต้องไปหักลบกับต่างชาติได้, ประชาชนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย และในเรื่องของธรรมาภิบาล ทั้งนี้ ภาษีสรรพสามิตสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล และเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” ดร.เอกนิติ กล่าว 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.